โรคกระดูกพรุน ปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญอันดับ 2 ของโลก

โรคกระดูกพรุน ปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญอันดับ 2 ของโลก        

            สถิติโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในอันดับที่ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกหักโดยเฉพาะกระดูกสะโพก ซึ่งผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะมีอัตราการเสียชีวิตในปีแรกร้อยละ 17 และสัดส่วน 80% ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม รวมทั้งจากข้อมูลมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติพบว่าประชากรไทยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน 80-90% ยังไม่ได้รับการประเมินและรักษา เนื่องในวันกระดูกพรุนโลก วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมรณรงค์ให้ผู้สูงอายุทุกคนตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน และปรึกษาแพทย์หากพบว่ามีความเสี่ยง โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.อารี ตนาวลี ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, พ.อ.รศ.นพ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ ประธานจัดงานประชุมวิชาการประจำปีราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41, รศ.นพ.สัตยา โรจนเสถียร ประธานอนุสาขาโรคกระดูกพรุน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, ศ.นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภญ.ภัทรพร วิมลวัตรเวที ผู้จัดการ บริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมงาน

            ศ.นพ.อารี ตนาวลี ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนคือ ภาวะที่ร่างกายมีความแข็งแกร่งของกระดูกลดน้อยลง ส่งผลให้กระดูกหักเกิดง่ายขึ้น ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ เมื่อผู้ป่วยหกล้มจะมีความเสี่ยงกระดูกหักง่าย ไม่ว่าจะเป็นการหกล้มในท่ายืนจากชีวิตประจำวัน หรือบางรายอาจจะมีกระดูกสันหลังยุบจากการที่นั่งกระแทกก้นแรง หรือยกของหนักที่เฉียบพลันเกินไป โดยรวมภาวะกระดูกหักจากสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เราเรียกว่าภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

            เนื่องในวันกระดูกพรุนโลก วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ทางราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคกระดูกพรุน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปให้รู้จักโรคกระดูกพรุน และแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้เข้ารับการประเมินและตรวจรักษาอย่างเหมาะสมในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์ที่เข้าใจง่าย

            พ.อ.รศ.นพ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ ประธานจัดงานประชุมวิชาการประจำปีราชวิทยาลัย แพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 กล่าวว่า งานประชุมวิชาการของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จัดเป็นประจำทุกปี ซึ่งวันนี้ตรงกับวันกระดูกพรุนโลก ทางราชวิทยาลัยฯ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

            รศ.นพ.สัตยา โรจนเสถียร ประธานอนุสาขาโรคกระดูกพรุน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วพบว่าตำแหน่งที่ทำให้เกิดกระดูกหักมากและบ่อยคือ กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ กระดูกซี่โครง กระดูกต้นแขน กระดูกสันหลัง ซึ่งอาการของการเกิดกระดูกหักมักสัมพันธ์กับการหกล้ม และแม้ผู้ป่วยจะล้มแบบธรรมดาครั้งเดียว หรือล้มแบบเบา ๆ ผู้ป่วยก็สามารถที่จะเกิดสะโพกหักได้

            ศ.นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า  โรคกระดูกพรุนเมื่อเป็นแล้ว ผลที่ตามมาคือ จะมีกระดูกหัก และพบบ่อยที่สุดคือ ช่วงกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังยุบ และกระดูกสันหลังหักพบถึง 50% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน อาการแสดงที่สังเกตง่าย ๆ คือ ตัวเตี้ยลงมากกว่า 4 เซนติเมตร หลังโก่ง และหลังโค้ง

            ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคกระดูกพรุนคือ การเกิดกระดูกหักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความทรมานและเดือดร้อนไปถึงผู้ดูแล รวมทั้งเกิดโรคแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น แผลกดทับ โรคปอดบวม โรคแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ  ซึ่งสามารถเกิดตามมาได้ และถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาผ่าตัดเสร็จแล้วอาจจะตามมาด้วยการไม่สามารถใช้ชีวิตได้ 100% หรืออาจจะเกิดความพิการขึ้นได้ หรืออาจจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ด้วย

            รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การป้องกันโรคกระดูกพรุน ผู้ป่วยสามารถเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กได้ โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม หมั่นออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนควรมาพบแพทย์ ส่วนผู้ที่ตรวจพบแล้วว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแนะนำให้พบแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม

            ภญ.ภัทรพร วิมลวัตรเวที ผู้จัดการ บริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทแอมเจนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ให้ความรู้กระดูกพรุนสู่ประชาชนเนื่องในวันกระดูกพรุนโลก  

            อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิง และ 1 ใน 8 ของผู้ชาย ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะการเกิดกระดูกสะโพกหัก และร้อยละ 20 ของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะเสียชีวิตในช่วงปีแรก ร้อยละ 30-40 เกิดความพิการ ไม่สามารถเดินได้ รวมทั้งไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันและช่วยเหลือตัวเองได้ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา กาแฟเป็นประจำ ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ในชีวิตประจำวันมีการเคลื่อนไหวน้อย และผู้ป่วยที่มีประวัติบิดาหรือมารดามีกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน

            กระดูกพรุนเป็นภาวะที่มีเนื้อกระดูกบางลงจากการสูญเสียมวลกระดูกซึ่งจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วภายใน 5 ปีแรก โรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกเกิดภาวะยุบหรือหักได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ โดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการแสดงจนกว่าจะเกิดกระดูกหักขึ้น อาการที่พบได้แก่ ปวดหลัง กระดูกหลังยุบตัว หลังค่อม ตัวเตี้ยลง กระดูกเปราะและหักง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดปัญหาการเดินและการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งการป้องกันโรคกระดูกพรุนสามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกาย โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น

            นอกจากนี้กลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีร่างกายที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา การออกกำลังกายจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะช่วยพัฒนาความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อและกระดูก พัฒนาความอดทนของระบบการหายใจและการไหลเวียนเลือด ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดภาวะซึมเศร้าและสภาวะสมองเสื่อม เมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรงก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ได้ ซึ่งการออกกำลังกายในวัยสูงอายุจะไม่แตกต่างกับวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานมากนัก ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือ การออกกำลังกายที่เสริมสร้างความสมดุลของร่างกายหรือการทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีความสามารถในการทรงตัวลดลงจากการเสื่อมสภาพของระบบประสาท กระดูก และกล้ามเนื้อ ทำให้ความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวลดน้อยลง โดยปัจจุบันพบว่าผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ล้มอย่างน้อยปีละครั้ง และเมื่ออายุมากกว่า 80 ปี การล้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และเกินกว่าครึ่งเกิดการล้มซ้ำ ประกอบกับมีโรคกระดูกพรุนที่พบมากในผู้สูงวัยทำให้กระดูกหักถึงร้อยละ 3-5 และเกิดทุพพลภาพเพิ่มภาวะพึ่งพิงและมีคุณภาพชีวิตต่ำลง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ต้องได้รับการป้องกัน ซึ่งขณะนี้กรมอนามัยมีโครงการชะลอชรา ชีวายืนยาว เพื่อเตรียมความพร้อมผู้สูงอายุและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสมทั้งด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย และการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ อันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพให้น้อยลง

            ทั้งนี้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดการเสื่อมสภาพของร่างกายให้ชะลอช้าลง เพื่อป้องกันการหกล้ม สำหรับผู้สูงอายุนั้น ประกอบด้วย 1. การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างน้อย 2-3 วัน/สัปดาห์ หรือที่เรียกว่าการออกกำลังกายแบบแรงต้าน เช่น ย่อเข่า ดันฝาผนัง ดึงยางยืด และนั่งเตะขาที่มีถุงทราย โดยปฏิบัติ 10-15 ครั้งในแต่ละท่า นับเป็น 1 เซ็ต ทำ2-3 เซ็ต  2. ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความอดทนของหัวใจและปอดในระดับความเหนื่อยปานกลางอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือออกกำลังกายในระดับหนักอย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว เต้นบาสโลบ ปั่นจักรยาน วันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์  3. การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อและข้อต่อมีความยืดหยุ่น เช่น การยืดเหยียด โยคะ อย่างน้อย 2-3 วัน/สัปดาห์ และ 4. ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความสมดุลของร่างกายอย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ อาทิ ยืนขาเดียว ยืนด้วยปลายเท้า คงค้าง 5-10 วินาที เดินเท้าต่อเท้า เดินบนเส้น เดินยกเข่า ก้าวขึ้นบันได 10-20 ก้าว ซึ่งเป็นท่าง่าย ๆ ผู้สูงอายุสามารถฝึกด้วยตนเองที่บ้านได้ รวมถึงการรำมวยจีน ซี่กง เต้นลีลาศ เป็นต้น ดังนั้น การออกกำลังกายเพื่อป้องกันการหกล้มจึงเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ และฝึกการทรงตัว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยควรระวังเรื่องของท่าทางในการฝึกการทรงตัว ควรให้มีการถ่ายเทน้ำหนักผ่านลงสะโพก หัวเข่าและข้อเท้าในแนวเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินหรือฝึกทรงตัวในพื้นที่ลื่น แต่ควรฝึกในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ ใช้เก้าอี้หรือโต๊ะที่มั่นคงช่วยในการจับหรือพยุงตัว หรือใช้อุปกรณ์หรือเครื่องช่วยพยุงในการเดินร่วมด้วย