เฝ้าระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์.. กลับมาใหม่

เฝ้าระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์.. กลับมาใหม่

 
โดย พญ.รสพร กิตติเยาวมาลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามและเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ควรต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน สำหรับหนุ่ม ๆ สาว ๆ นักรักทั้งหลาย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเรียกกันแบบน่ารัก ๆ ว่า “โรคที่มากับความรัก” ที่หลายท่านสงสัยแต่ไม่กล้าพูดถึง สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยจึงนำมาไขข้อข้องใจและทำความรู้จักกันในแต่ละโรค ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันและเป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าในช่วงรอบปีที่ผ่านมา  ทำไม! โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลาย ๆ โรคกลับมาระบาดอีกครั้ง และโรคเหล่านี้สามารถที่จะติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งโดยการมีเพศสัมพันธ์ บางโรคอาจติดต่อกันโดยการสัมผัสหรือถ่ายทอดสู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์  ได้แก่  ซิฟิลิส  หนองใน แผลริมอ่อน เริมอวัยวะเพศ  เป็นต้น   นอกจากนี้ยังมีบางโรคที่สามารถติดต่อทางการสัมผัสได้ เช่น หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก เริม หิด โลน ซึ่งในบางโรคอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้เรามารู้จักโรคเหล่านี้ กันดีกว่า

            ในปัจจุบัน สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่ามีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประกอบไปด้วย  5 โรคหลัก (ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน และฝีมะม่วง/กามโรคต่อมน้ำเหลือง) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นจาก 23.0 ต่อประชากรแสนคน ในปีงบประมาณ 2558 เป็น 33.8 ต่อประชากรแสนคน ในปีงบประมาณ 2562 โดยพบว่าโรคหนองในมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือ ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และฝีมะม่วง/กามโรคต่อมน้ำเหลือง ตามลำดับ ซึ่งพบอัตราป่วยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี

               โรคหนองใน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoeae มีระยะฟักตัว 1-14 วัน และมักทำให้เกิดอาการในช่วง 2-5 วัน ในผู้ป่วยชาย จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด และมีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อัณฑะอักเสบ และทำให้เป็นหมันได้ ผู้ชายอาจไม่แสดงอาการได้ร้อยละ 10 ส่วนในผู้หญิง อาจมีตกขาวมีกลิ่นเหม็น  ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ จนอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรืออาจเป็นหมันได้ ผู้หญิงประมาณร้อยละ 70 อาจไม่มีอาการผิดปกติ ทั้งชายและหญิงอาจติดเชื้อที่ลำคอได้ หากมีการร่วมเพศทางปาก (Oral sex) และการติดเชื้อทางทวารหนักมักไม่มีอาการ ส่วนโรคหนองในเทียมเกิดจากเชื้อได้หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาการจะน้อยกว่าโรคหนองใน และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับโรคหนองใน

               โรคซิฟิลิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Treponema pallidum มีระยะฟักตัวประมาณ 10-90 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการได้หลายอย่าง ตามระยะของโรค เช่น แผลริมแข็งที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก มีผื่นตามลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผมร่วง คิ้วร่วง แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคซิฟิลิสระยะแฝงจะไม่แสดงอาการ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา โรคอาจลุกลามทำลายอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง กระดูก ทำให้พิการและเสียชีวิตได้

               ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือ ถุงยางอนามัยแตก รั่ว หลุด ไม่ว่าช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม (ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางช่องปากและคอ) คู่เพศสัมพันธ์เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการที่มีคู่เพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คน ก็ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

               ดังนั้น ในการป้องกันไม่ให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกช่องทางที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์  (ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางช่องปากและคอ) เนื่องจากสามารถติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกช่องทาง และหากมีการใช้สารหล่อลื่น ควรใช้สารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำหรือซิลิโคนเป็นส่วนผสม เนื่องจากการใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบอื่น ๆ อาจทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้ง่าย

สำหรับการป้องกันโรคเอดส์ (เอชไอวี) มีการรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวี (ยาเพร็พ) เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) การใช้ยาเพร็พ (PrEP) ยังคงต้องใช้ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากยาเพร็พ(PrEP) ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ  ได้ ประโยชน์ของการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากจะป้องกันโรคได้แล้ว ยังสามารถป้องกันการท้องไม่พร้อมได้อีกด้วย