ผลของมลพิษทางอากาศในเขตเมือง PM2.5

ผลของมลพิษทางอากาศในเขตเมือง PM2.5


นพ.ยุทธนา อภิชาตบุตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อายุรกรรมโรคปอด และ นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านโรคปอด โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

ช่วงนี้หลาย ๆ จังหวัดโดยเฉพาะในเขตเมืองของพื้นที่ภาคเหนือ อย่างจังหวัดเชียงใหม่    เชียงราย และอีกหลาย ๆ จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร กำลังประสบปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในลำดับที่ 5 ประชากรที่เสียชีวิตในโลก จำนวน 4.2 ล้านคนมีสาเหตุเกี่ยวเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศ ในช่วงที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก

            โดยปัญหามลพิษทางอากาศในปัจจุบันองค์การอนามัยโลก ที่พบบ่อยเป็นลักษณะแบบ Particulate matter (PM) เป็นฝุ่นละอองที่มีทั้งของเหลวและของแข็ง ซึ่งเป็นโลหะพิษ (toxic compound) และสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) แขวนลอยในอากาศโดยที่ผิวของฝุ่นละอองจะมีโลหะพิษผสมอยู่เช่น สารหนู (arsenic) ตะกั่ว (lead) แคดเมียม (cadmium) ส่งผลให้มีสภาพความเป็นกรดที่ผิวของฝุ่นละออง การแยกชนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็กแบ่งตามขนาดออกได้เป็น 4 ประเภทโดยขนาดยิ่งเล็กเท่าไรยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ

          โดยพบว่าฝุ่นละอองขนาด > 5 μm จะเกาะติดบริเวณช่องปาก คอ และลิ้น ไม่ลงไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก แสบตา เจ็บคอ จาม  ฝุ่นละอองที่มีขนาด 2.5 - 5 μm จะสามารถลงไปจนถึงหลอดลม (trachea) และขั้วปอดส่วนต้น (bronchus) ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ หอบเหนื่อยมากขึ้นในผู้ป่วยโรคหืด (asthma) และ ในกรณีของฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 μm จะสามารถลงไปจนถึงหลอดลมฝอย (respiratory bronchiole) และ ถุงลม (alveoli) ได้

สาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศ

               นพ.ยุทธนา อภิชาตบุตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อายุรกรรมโรคปอด โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่าจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ รายงานในปี 2561 ว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงยานพาหนะก่อให้เกิดฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 μm (PM 2.5) โดยสาเหตุมักเกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งในทางเกษตรกรรม การเผาไหม้น้ำมันดิบ ไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาไหม้ในเตาเผาครัวเรือน

กระบวนการวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศ และดัชนีอากาศ

               การรายงานระดับความรุนแรงของมลพิษในอากาศ จะรายงานเป็นภาพรวม โดยรวมเอา particulate matter (PM 10, PM 2.5), carbon monoxide (CO), ozone (O3), nitrogen dioxide (NO2) และ sulfur dioxide (SO2) มาคำนวณเรียกว่า Air Quality Index (AQI) โดย AQI ในประเทศไทยจะแบ่งเป็น 5 ระดับโดยระดับสูงสุด คือ AQI ที่มากกว่า 201 ขึ้นไป (ดูเทียบจากตารางที่ 2) และ ตารางที่ 3 ในเรื่องของค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศที่เทียบเท่ากับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ โดยค่าเฉลี่ย PM 2.5 นั้น จะรายงานเป็นค่าเฉลี่ยต่อเนื่อง โดยระดับที่เกิน 50 μg/m3 เป็นระดับที่ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษหรือผู้มีโรคประจำตัวควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใช้หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 โดยสีเตือนนั้นจะใช้สีส้ม และถ้าค่า PM 2.5 เกิน 90 μg/m3 สีเตือนเป็นสีแดง จะเริ่มมีผลเสียทางสุขภาพต่อประชาชนทั่วไป ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 และหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด

ผลของฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อสุขภาพอนามัย

          PM 2.5 นั้น ส่งผลทำให้การต่อต้านอนุมูลอิสระลดลง ธาตุโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง วาเนเดียม และแมงกานีส บนผิว PM 2.5 ทำให้เกิด ROS และ RNS ภายในเซลล์ ทำให้ความแข็งแรงของเซลล์ ลดลงเกิดการตายของเซลล์ นำไปสู่การอักเสบของเนื้อเยื่อ และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กกับระบบทางเดินหายใจนั้น อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบได้โดยเฉพาะในส่วนโรคระบบทางเดินหายใจ และ ยังส่งผลทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ โรคหอบหืด (asthma) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease) ปอดติดเชื้อ (pneumonia) โดยเฉพาะกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังพบว่าอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นในระดับของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น

          ผลของฝุ่นละอองต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลทำให้ระบบเยื่อบุหลอดเลือดผิดปกติ (vascular endothelial dysfunction) ซึ่งก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดแข็งตัว (atherosclerosis) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจโต และหัวใจวาย ส่วนผลของ ฝุ่นละอองกับการเกิดโรคมะเร็ง  ฝุ่น PM 2.5 มีความเป็นพิษต่อยีน (genotoxic) โดยตรงทำให้สารพันธุกรรมเสียหาย (DNA damage) โดยสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดมะเร็งปอด นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงระบบอื่น ๆ เช่น ระบบไต ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบประสาทส่วนกลางและ อื่น ๆ

แนวทางการป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก

            นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทาง ด้านโรคปอด โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า มาตรการรณรงค์เพื่อป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในระยะยาว ควรรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น) ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการ ลด ละ เลิก กิจกรรมกลางแจ้งเมื่อมีคำเตือน และใช้หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 ถ้ามีความจำเป็นต้องสัมผัสฝุ่นละออง  โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 μm สามารถลงไปจนถึงถุงลมปอดก่อให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม    เช่น ควบคุมการใช้ยานพาหนะที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์   การเผาไหม้ทางเกษตรกรรม  โรงงานอุตสาหกรมที่ปล่อยควันเสีย เป็นต้น สำหรับประชาชนทั่วไปการติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหามลพิษทางอากาศมาก ๆ เช่น ช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงมีนาคมเพื่อลดโอกาสสูดเอาฝุ่นละอองดังกล่าวเข้าปอด