ตำรับยาจีนสำหรับฤดูฝน

ตำรับยาจีนสำหรับฤดูฝน
พจ.มาลีนา บุนนาค ลู่ สำนักงานฝ่ายการแพทย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ช่วงนี้อยู่ในฤดูฝน ความชื้นมีมาก เมื่อเราได้รับความชื้นไม่ว่าจะเป็นทางสิ่งแวดล้อม อากาศ อาหารที่เรารับประทานเข้าไป หากมีมากเกินไป ร่างกายมักเกิดความผิดปกติ เช่น อาจจะรู้สึกตัวหนัก ๆ รู้สึกตัวบวม มีเสมหะ หรือปวดตามข้อ ตามร่างกาย ถ่ายเหลว ฯลฯ แพทย์จีนมียาสมุนไพรจีนหลายชนิด สำหรับฉบับนี้ ขอแนะนำยาจีนหนึ่งในหลาย ๆ ตำรับที่ควรจ่ายโดยแพทย์จีน หลังจากการตรวจวินิจฉัยโรค โดยการแมะชีพจร และดูลิ้น ฯลฯ เพื่อดูสภาวะของร่างกายว่าเหมาะสมกับการรับประทานยาชนิดใด ตำรับที่แนะนำวันนี้เกี่ยวกับการขจัดความชื้น และสลายเสมหะ ได้แก่ 二陈汤  (เอ้อร์เฉินทัง) มีส่วนประกอบดังนี้

  • Zhi Ban Xia (Rz. Pinelliae Preparatum)
  • Ju Hong (Exocarpium Citri Reticulatae Rubrum) 
  • Bai Fu Ling (Poria)  
  • Zhi Gan Cao (Rx. Glycyrrhizae Preparata)           

ฤทธิ์ของตำรับนี้ช่วยขจัดความชื้น และสลายเสมหะ โดยตัวยาแต่ละชนิดมีคุณสมบัติดังนี้

  • Zhi Ban Xia (Rz. Pinelliae Preparatum) มีรสเผ็ด อุ่น ทำให้เสมหะแห้ง ลดอาการอาเจียนและอาการแน่นท้อง ช่วยรักษาอาการหอบมีเสมหะมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ อาเจียน เรอเปรี้ยว แน่นอก แน่นท้อง รู้สึกมีเสมหะติดอยู่ที่คอ
  • Ju Hong (Exocarpium Citri Reticulatae Rubrum) มีรสเผ็ด ขม อุ่น ช่วยขับลมปรับชี่ สลายเสมหะ ลดอาการปวด อักเสบ หยุดอาเจียน
  • Bai Fu Ling (Poria) มีรสหวาน จืด ขับน้ำ บำรุงม้าม และกระเพาะอาหาร รักษาอาการไอมีเสมหะ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ใจสั่น นอนไม่หลับ หลงลืม
  • Zhi Gan Cao (Rx. Glycyrrhizae Preparata) มีรสหวาน ช่วยนำยา บำรุงม้าม ละลายเสมหะ

ข้อควรปฏิบัติระหว่างการใช้ยา

  • ควรดื่มกับน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น
  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น หัวไชเท้า ฟัก แตงกวา ฯลฯ และอาหารเผ็ด มัน คาว รสจัด

ข้อควรระวังในการใช้ยา

  • ไม่ใช้ในเสมหะร้อน ไอแห้ง หรือชี่ปอดพร่อง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีอินพร่อง

          ทั้งนี้การรับประทานยาสมุนไพรจีนตำรับต่าง ๆ ควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยอาการจากแพทย์แผนจีน เพื่อจัดตำรับยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย