หู ไต วัยชรา

หู ไต วัยชรา
พจ.รณกร โลหะฐานัส แพทย์จีนประจำศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

“หู” ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นอวัยวะที่ใช้รับเสียง เป็นกระดูกอ่อนทั้งแผ่นจึงมีความสัมพันธ์กับกระดูก อีกทั้งหูเป็นทวารของไต หากไตมีปัญหาก็มักพบอาการเกี่ยวกับหู เช่น หูหนวก หูตึง หูอื้อ เวียนศีรษะบ้านหมุน หรือมีเสียงแว่วในหู เป็นต้น

“ไต” ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนทำหน้าที่ควบคุมน้ำ ควบคุมการหายใจ และเก็บจิงชี่ (สารที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์) เมื่ออายุมากขึ้นจิงชี่ที่เก็บไว้ในไตจะถูกนำมาใช้ในการเจริญเติบโต พัฒนาระบบสืบพันธุ์เพื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เมื่อเข้าสู่ “วัยชรา” ประสิทธิภาพการทำงานของไตย่อมทำได้ลดลงไปตามกาลเวลา โดยสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุมักจะปัสสาวะบ่อยมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น หรือการที่จิงชี่ในไตลดลงอย่างมากจนทำให้เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หลั่งเร็วในผู้ชาย หมดประจำเดือนในผู้หญิง เกิดเสียงแว่วในหู เป็นต้น

แพทย์แผนจีนจึงมีวิธีชะลอการเสื่อมของไตมากมาย ตั้งแต่การรับประทานยาสมุนไพร การฝังเข็ม โภชนบำบัด หรือวิธีที่ง่าย ๆ อย่างการกดจุด โดยจุดที่จะนำมาแนะนำในครั้งนี้ชื่อว่า จุดหย่งเฉวียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นลมปราณไต อยู่บริเวณกึ่งกลางฝ่าเท้า ดังรูป

          วิธีการกดจุดดังกล่าวจะใช้วิธีกางฝ่ามือขวาตบเข้าไปหาเท้าซ้าย 3-9 ครั้ง แล้วสลับข้าง สามารถทำได้บ่อยครั้งเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของชี่ในเส้นลมปราณ หากทำทุกวันจะช่วยลดอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด เวียนศีรษะบ้านหมุน หูอื้อ หูมีเสียงแว่วได้

นอกจากนี้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนยังแนะนำให้เลี่ยงการนอนหลับช่วงเวลา 5 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม เนื่องจากจะทำให้ชี่ในไตติดขัด ซึ่งคล้ายกับความเชื่อโบราณของไทยที่ห้ามนอนทับตะวัน (นอนตอนเย็น) หากใครมีอาการง่วงนอนตอนเย็นแสดงว่าท่านอาจมีปัญหาเกี่ยวกับไต ไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบไปปรึกษาแพทย์แผนจีนโดยเร็ว