จะเป็นอย่างไร ในเมื่อมีสื่อรุนแรงให้ลูกดูได้ทุกวัน

จะเป็นอย่างไร ในเมื่อมีสื่อรุนแรงให้ลูกดูได้ทุกวัน
พญ.วรินทิพย์ สว่างศรี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

โลกปัจจุบันถือเป็นโลกยุคการสื่อสาธารณะและข้อมูลข่าวสารที่ทุกคนสามารถแสดงออกด้านความคิด ความเชื่อ การกระทำ และสิ่งที่พบเจอมาในชีวิตประจำวันได้ ทั้งทางข้อความ รูปภาพ หรือคลิปเสียง และสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นของผู้อื่นได้อย่างสะดวกสบาย เราจึงสามารถพบเรื่องราวความรุนแรงปะปนมาในสื่อเหล่านี้ได้ และพบเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยความรุนแรงนั้นไม่เพียงจำกัดอยู่ที่การกระทำ แต่ยังรวมไปถึงภาษาพิมพ์ ภาษาพูด เนื้อความ น้ำเสียง และท่าทางการแสดงออก ปัจจุบันมีรายงานพบว่า เด็กไทยใช้เวลากับหน้าจออินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่ 3 ชั่วโมง) โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับ Social media และเกมออนไลน์

ผลกระทบจากสื่อรุนแรงที่มีต่อเด็ก

ในอดีตเคยมีการศึกษาวิจัยที่เป็นที่รู้จักกันดี โดย ได้นำเด็กก่อนวัยเรียนมานั่งดูวิดีโอที่มีผู้ใหญ่นั่งเล่นตุ๊กตาด้วยความรุนแรง เช่น ตีด้วยค้อน หรือเตะซ้ำ ๆ หลังจากนั้นจึงให้เด็กเข้าไปในห้องที่มีตุ๊กตาแบบเดียวกัน และของเล่นอื่น ๆ พบว่าเด็กที่ได้ดูวิดีโอเลือกที่จะเล่นตุ๊กตาในลักษณะรุนแรงแบบเดียวกับในวิดีโอที่ตนพบเห็น และค้นพบวิธีการเล่นใหม่ ๆ ที่รุนแรงกว่าเดิมกับตุ๊กตาและของเล่นอื่น ๆ ด้วย นั่นเป็นเพราะเด็กในวัยนี้ยังไม่มีการพัฒนาการด้านจริยธรรม (Moral development) เหมือนผู้ใหญ่ และเรียนรู้ได้ดีจากการเลียนแบบ หรือการศึกษาการกระทำของผู้อื่น

ผลกระทบระยะสั้นต่อเด็กและวัยรุ่นคือ เด็กจะมีความคิดและพฤติกรรมทั้งการกระทำ วาจา และอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงขึ้น อาจมีพฤติกรรมเลียนแบบจากสิ่งที่พบเห็น หรือมีความยับยั้งชั่งใจและการควบคุมอารมณ์ที่ลดลง หรือถูกกระตุ้นอารมณ์ได้ง่ายขึ้น เด็กอาจมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย รอคอยหรือรับฟังผู้อื่นได้ลดลง หรือไปจนถึงมีเรื่องชกต่อยเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือไม่พอใจ

ผลกระทบในระยะยาว เด็กและวัยรุ่นจะเกิดกระบวนการเรียนรู้และแปลความหมายต่อเหตุการณ์ความรุนแรงใหม่ (Observational learning) นั่นคือ ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ (Acceptance of violence) โดยคิดว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องหรือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และเหมาะสม มองว่าผู้ที่ใช้ความรุนแรงเป็นผู้ที่ควรได้รับการยกย่อง หรือเป็นฮีโร่ คนเลวควรได้รับการแก้แค้นหรือการตอบโต้ด้วยความรุนแรง นอกจากนี้ในระยะยาวผู้ที่เสพสื่อรุนแรงจะรู้สึกชินชาต่อภาพหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า Desensitization ส่งผลให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นลดลงด้วย

แนวทางการดูแลเด็กกับสื่อปัจจุบัน

  1. เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรให้ดูสื่อที่เป็นหน้าจอต่าง ๆ ควรกระตุ้นพัฒนาการเด็กผ่านกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยสื่อสาร และสบตากับคน
  2. เด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 6 ปี ไม่ควรใช้สื่อที่เป็นหน้าจอเพียงลำพัง และไม่ควรใช้เวลานานเกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยสื่อที่ใช้ควรมีเนื้อหาเฉพาะการศึกษา หรือส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก
  3. เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ถึง 13 ปี ไม่ควรใช้สื่อหรือเล่นเกมที่มีความรุนแรง หรืออาจมีความรุนแรงได้เพียงเล็กน้อย โดยให้เหมาะสมกับ rating ที่กำหนด ไม่ควรมี Social media ที่เป็น account ของตนเอง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรอยู่ในความดูแลและแนะนำของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
  4. ในกรณีที่พบเห็นสื่อหรือเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง ให้ผู้ปกครองถือโอกาสนั้นในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเด็ก และสอดแทรกค่านิยมการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็กด้วย
  5. สนับสนุนให้ครอบครัวมีกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน หรือส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กีฬา ดนตรี หรือศิลปะ เพื่อลดการเข้าถึงสื่อดังกล่าว