โครงการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพเครือข่ายจิตเวช รพ.สวนปรุง พร้อมติดตามการดูแลจิตใจประชาชนในสถานการณ์โควิด 19 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดโครงการอบรม 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้น การบริบาลเภสัชกรรมเฉพาะทาง สาขาจิตเวช รุ่นที่ 12 และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช รุ่นที่ 22 ณ โรงพยาบาลสวนปรุง โดยมี นพ.สมัย ศิริทองถาวร ,นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต, นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวรายงาน, พญ.หทัยชนนี บุญเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์, ว่าที่ร้อยโทโฆษิต กัลยา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑, คณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมในงาน
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายบริการด้านสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักสูตรการอบรมดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงได้กับนโยบาย 3 หมอ ที่มีแนวคิดคือต้องการให้คนไทยทุกคนทุกครอบครัวมีหมอดูแลในทุกระดับของการเจ็บป่วย ตั้งแต่การเจ็บป่วยเล็กน้อยดูแลได้ภายในครอบครัวและชุมชน การเจ็บป่วยที่เพิ่มระดับการบริการสุขภาพและการแพทย์ขึ้นมาต้องการการดูแลในสถานบริการปฐมภูมิใกล้บ้านในระดับตำบลและการเจ็บป่วยที่ต้องการการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือการดูแลในระดับอำเภอต่อไปถึงระดับจังหวัด โดย 3 หมอที่ว่านี่คือ 1. หมอประจำบ้าน ได้แก่ อสม. 2. หมอสาธารณสุข ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานบริการปฐมภูมิ ทั้ง รพ.สต., คลินิกชุมชนอบอุ่น ครอบคลุมบุคลากรทุกสาชาวิชาชีพทั้งพยาบาล เภสัชกร และวิชาชีพอื่นๆ และ 3. หมอเวชปฏิบัติครอบครัว โดยเป้าหมายคือประชาชนเป็นเจ้าของระบบสุขภาพที่แท้จริง มีสุขภาพที่ดี ลดความแออัดในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังได้กล่าวเพิ่มเติมสำหรับความห่วงใยในกลุ่มเสี่ยงภาวะสุขภาพจิตในสถานการณ์โควิด 19 ในเขตภาคเหนือ จากการที่ได้ส่งทีม MCATT เขตสุขภาพที่ ๑ (ทีมเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤตสุขภาพจิต) โรงพยาบาลสวนปรุง, ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 และสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ประกอบด้วย นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัด นักวิชาการสาธารณสุข และพยาบาลวิชาชีพ ลงพื้นที่ดำเนินงานเชิงรุกโดยเสริมให้มีบริการรถโมบายคลายเครียดเพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชน ซึ่งมีการคัดกรองสุขภาพจิตผ่านระบบ Mental Health Check in ให้บริการตรวจวัดความเครียดและการไหลเวียนของเลือดด้วยเครื่อง Biofeedback (HRV) พร้อมแปลและรายงานผลโดยนักจิตวิทยาและการให้คำปรึกษาเบื้องต้น ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น จากการรายงานมีผู้ตอบแบบประเมิน 8,775 ราย พบผู้มีความเครียดสูงร้อยละ 8.9 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 12.09 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 6.55 และมีภาวะหมดไฟ ร้อยละ 5.09 โดยอยากจะขอเน้นย้ำในหลัก 3 ส. คือ ส 1 สอดส่องมองหา โดยค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ส 2 ใส่ใจรับฟัง อย่างตั้งใจ เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความเครียดจากสถานการณ์ คลายความทุกข์ในใจ และ ส 3 ส่งต่อเชื่อมโยง โดยให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น ส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสม สำหรับในกลุ่มผู้มีความเครียดสูง ผู้มีภาวะหมดไฟ ท่านสามารถรับความรู้ได้จากแอพพลิเคชั่น Mental Health Check in ภายหลังการทำแบบประเมินโดยองค์ความรู้ที่ได้รับนำไปดูแลสุขภาพจิตตนเองได้ ทั้งนี้ท่านสามารถตรวจสอบสภาพจิตใจของตนเองได้ทางแอปพลิเคชั่น Mental Health Check In และหากมีข้อสงสัย โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทางด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า โรงพยาบาลสวนปรุงเป็นหน่วยงานนำร่องในการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพทั้งพยาบาลวิชาชีพและเภสัชกรเฉพาะทางสาขาจิตเวช และเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล และสภาเภสัชกรรม ซึ่งในปัจจุบันได้อบรมพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางสาขาจิตเวชทั่วประเทศไปแล้วกว่า 830 คน และเภสัชกรเฉพาะทางจิตเวช 189 คน สำหรับโครงการอบรม แบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรมเฉพาะทางสาขาจิตเวช รุ่นที่ ๑๒ ระยะเวลาอบรม ๑ มีนาคม-๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ รวม ๒๔ สัปดาห์ ผู้เข้าอบรมประกอบด้วยเภสัชกรจากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก อุตรดิตถ์ สระบุรี และนครราชสีมา และโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต รวมจำนวน 13 คน และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช รุ่นที่ 22 ระยะเวลาอบรม 3 มีนาคม-30 มิถุนายน 2564 รวม 16 สัปดาห์ ผู้เข้าอบรมประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ รพ.ศูนย์ และรพ.สต.ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลสวนปรุง จำนวน 27 คน และได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลหางดง โรงพยาบาลดอยสะเก็ด โรงพยาบาลสันทราย และโรงพยาบาลสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานในชุมชน ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายก็เพื่อการเข้าถึงบริการจิตเวชที่ทั่วถึงและต่อเนื่องเพื่อประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี
ข้อมูลจาก/จัดทำโดย กลุ่มสารนิเทศเเละประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต