Here to Heal: คุยกับฉันตรงนี้เมื่อคุณต้องการ
ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นเหมือนบททดสอบเพื่อฝึกฝนเราให้เข้มแกร่งพยายามสู้ชีวิต แต่เห่อ Y_Y ...ชีวิตสู้กลับสะงั้น ... ความรู้สึกมากมายประดังประเดเททะลักแบบทะลุทะลวงเข้ามา “เครียด ด ด ด ไม่ไหวแล้ว” “ไม่รู้จะพูดเรื่องนี้กับใคร” “ไม่มีใครเข้าใจเลย” รู้สึกอยากได้พื้นที่ปลอดภัยหรือลังเลใจว่าควรไปพบนักจิตวิทยาหรือไม่ เพื่อช่วยเราก้าวผ่านไปได้ลองพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญผ่าน “Here to Heal” บริการดี ๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย
โครงการ Here to heal ให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านข้อความ โดยอาสาสมัครผู้ให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิต ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เวลา 10.00-22.00 น.
วิธีการเข้ารับบริการ เว็บไซต์ https://heretohealproject.com กดเลือกเมนู “บริการให้คำปรึกษาออนไลน์” หรือ แสกนคิวอาร์โค้ดด้านล่าง หรือเข้าไปที่ https://heretohealproject.com/online_counseling จากนั้นคลิกสัญลักษณ์จุดสามจุดในเครื่องหมายคำพูด ที่มุมขวาล่าง เพื่อเริ่มต้นกระบวนการปรึกษากับ Here to heal ได้เลย
หากพบปัญหาสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Here To Heal Line Official Account
https://lin.ee/P77s2bW
ID Line: @611mcjlb
Here to Heal “โครงการการพัฒนาระบบบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์และเครือข่ายส่งต่อบริการสุขภาพจิต” ดำเนินการโดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากช่องว่างของงานทางด้านสุขภาพจิตที่ยังมีหลายแง่มุมซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการร่วมกับการปฏิบัติโดยมุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเข้าไปเสริมสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนไทย โดยเฉพาะการเข้าถึงผู้กำลังต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ตั้งแต่บุคคลที่อยู่ในระยะเริ่มต้นประสบปัญหาไปจนถึงผู้ที่มีปัญหาจิตเวชเรื้อรัง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ๒๐ ปี ตลอดจนพัฒนากลไกการเชื่อมต่องานสุขภาพจิต
สถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ยังกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชน อาจก่อให้เกิดความกลัว ความวิตกกังวล และความเครียดได้ โดยผลกระทบจากโรคระบาดในครั้งนี้จะส่งผลต่อจิตใจของประชาชนทั้งในระหว่างการระบาดและหลังการระบาด นักจิตวิทยาและนักวิชาการด้านสุขภาพจิตควรทำการศึกษาและเตรียมการรับมือกับผลกระทบทางจิตใจที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้น ภายหลังจากระยะการแพร่ระบาดของโรค แม้จะมีวัคซีนที่ทำการป้องกันโรคได้แล้ว ทางบริการให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตควรต้องเตรียมการขยายการบริการเพื่อการเข้าและให้บริการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาชนขึ้น อันจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาสุขภาพจิตของประชากรไทยต่อไปในอนาคต
เป้าหมายทางตรงโครงการ
เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการทางด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนให้มีความหลากหลาย และสะดวกรวดเร็ว รองรับกับจำนวนการใช้งานของผู้ต้องการใช้บริการด้านสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่ายส่งต่อบริการด้านสุขภาพจิต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ให้บริการ เครื่องมือ ตลอดจนกระบวนการให้บริการ ให้สามารถช่วยเหลือผู้รับบริการ ผ่านเทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่อยู่ในวัยเรียน และวัยทำงาน ตลอดจนประชาชนที่ประสบกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบกับสุขภาพจิต โดยเป็นกลุ่มที่มีความคุ้นชินสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้
เป้าหมายระยะยาว
เกิดกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงการประสานส่งต่อบริการทางสุขภาพจิต เพื่อสนับสนุนนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพจิตระดับชาติ ตลอดจนพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตที่เป็นมาตรฐาน เพื่อผลักดันเข้าสู่การเป็นบริการพื้นฐานด้านส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ในสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ในอนาคต
วัตถุประสงค์
(1) เพื่อพัฒนาระบบบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ที่ครบวงจร (Mental health Online Service: MOS) สำหรับการให้บริการตอบคำถามข้อมูลเบื้องต้นด้านสุขภาพจิต การปรึกษาเชิงจิตวิทยา และการส่งต่อบริการ ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต
(2) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตในประเทศไทย (Mental health Services Database) ที่สามารถให้บริการสุขภาพจิตแต่ละระดับได้มาตรฐานตามหลัก
(3) เพื่อส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชน ผ่านรูปแบบกลุ่มเชิงจิตวิทยาสำหรับผู้เผชิญปัญหาทางจิตใจเดียวกัน ที่ค้นพบผ่านบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์และผู้สนใจทั่วไปวิชาการ ทั้งบริการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน
(4) เพื่อร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการรณรงค์ เผยแพร่ และขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของประเทศ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนัก เข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิต ลดอคติต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิต
ข้อมูลอ้างอิง
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://heretohealproject.com/