DMIND แอปฯ คัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า นวัตกรรม AI จากนักวิจัยคณะแพทย์และวิศวะ จุฬาฯ

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแอปพลิเคชั่น DMIND

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโรคซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในระดับที่น่ากังวล โดยในปี 2564 มีคนไทยอย่างน้อย 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจำนวน 100 คน เข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้นและมีสถิติผู้พยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6 คนต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70 % ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  คาดการณ์กันว่าในอีก 18 ปีข้างหน้าจะส่งผลกระทบกลายเป็นภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้อันดับ 1 ของทั่วโลก 

 

ด้วยสถิติและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้จิตแพทย์ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ด่านหน้าอย่าง รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้บรรเทาเบาบางลง

“ได้มีโอกาสคุยกับรุ่นน้องที่เป็นจิตแพทย์ด้วยกันและทำงานอยู่ในกรมสุขภาพจิต พบว่าเจอปัญหาคล้ายๆ กัน คือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าเราจะเพิ่มกำลังในการผลิตจิตแพทย์เพียงใดก็ไม่เพียงพอ จะเห็นได้ตามข่าวทางสื่อต่างๆ ว่ามีดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมากที่ประสบกับภาวะซึมเศร้า แต่จริงๆ ยังมีคนที่เราไม่รู้จักอีกเยอะที่ป่วยเป็นซึมเศร้าและตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง ซึ่งเป็นปัญหาที่จิตแพทย์รู้สึกกังวล และพยายามหาทางรับมือกับปัญหานี้” รศ.พญ.โสฬพัทธ์ กล่าว

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ แต่การจะให้โอกาสกับผู้ป่วยทุกคนที่ต้องการเข้าถึงการรักษาได้อย่างไร นั่นคือโจทย์สำคัญที่สุด

“ตามรูปการณ์ในปัจจุบัน การที่โรงพยาบาลจะขยาย OPD หรือแผนกเพื่อรองรับผู้ป่วยก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน การเพิ่มสถานพยาบาลยังไงก็ไม่มีทางเพียงพอ ในบางจังหวัดมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการวันละ 200 – 300 คน มันเป็นไปไม่ได้เลย แล้วคนที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่กล้ามาโรงพยาบาลก็มีอีกจำนวนมาก ประกอบกับที่กรมสุขภาพจิตเองก็มีสายด่วนสุขภาพจิต ให้บริการในการพูดคุยให้คำปรึกษา โดยมีนักจิตวิทยาช่วยประเมินว่าสายที่โทรเข้ามามีอาการของโรคซึมเศร้ามากแค่ไหน เราได้พูดคุยกับกรมสุขภาพจิตแล้วพบว่ามีคนที่ต้องรอสายต่อวันเป็นพันๆ คน แต่มีคนที่รับสายโทรศัพท์ต่อวันไม่เพียงพอ ทำให้ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงบริการอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจมีคนที่สุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแล้วไม่สามารถเข้าถึงบริการ เราจะได้รู้ได้อย่างไรว่าสายไหนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด จะมีเทคโนโลยีอะไรที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้บ้าง” รศ.พญ.โสฬพัทธ์ ตั้งคำถาม

 

ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ รศ.พญ.โสฬพัทธ์ทราบดีว่าคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะแสดงลักษณะอาการของโรคออกมาผ่านทั้งน้ำเสียง คำพูด และการแสดงออกทางสีหน้า หากมีเครื่องมือที่สามารถนำมาวิเคราะห์ตรงนี้ได้ก็คงจะดีไม่น้อย นั่นคือที่มาของการพัฒนา DMIND แอปพลิเคชั่นสำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า นวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท Agnos Health ซึ่ง D ย่อมาจาก Depression หรือโรคซึมเศร้านั่นเอง

DMIND คืออะไร

DMIND เป็นเครื่องมือที่นำมาช่วยจิตแพทย์ โดยไม่ได้มาทำหน้าที่แทนจิตแพทย์ แต่นำมาช่วยคัดกรองว่าใครคือเคสเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คนที่มีอาการโรคซึมเศร้าเบาหน่อยค่อยมีการช่วยเหลือในลำดับต่อๆ ไป

 

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เผยว่า  “ในจุฬาฯ ได้มีการพูดคุยและร่วมกันพัฒนาเครื่องมือนี้เป็นการภายในอยู่แล้ว ซึ่งเป็นงานที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้พูดคุยกับกรมสุขภาพจิต จึงเป็นเวลาที่สมควรที่จะได้ทดลองนำเอางานที่ทำกันในห้องปฏิบัติการมาทดลองจริงๆ กับเทปเสียงที่บันทึกเอาไว้ของกรมสุขภาพจิต แล้วนำมาลองวิเคราะห์ดู ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ง่ายอย่างที่เราเคยคิดเอาไว้ เพราะเห็นว่ามีการทำกันเยอะในต่างประเทศ ปรากฏว่าเทคนิคที่ต่างประเทศใช้หรือมีการตีพิมพ์ นำกลับมาใช้กับคนไทยไม่ได้ ต้องเริ่มกันใหม่หมด เราทำงานกันหนักมาก มีการเก็บตัวอย่างหลายหมื่นตัวอย่างมาวิเคราะห์ จนเกิดเป็น AI ที่เป็น Machine Learning ที่เป็น Template ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยนำมาทดสอบกับคนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนเรามั่นใจในตัวเลขของข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์มีความแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ และจะแม่นยำขึ้นได้อีกด้วยเทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์”

ทางแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมก็มีจำนวนผู้ใช้งานที่มีความเครียดเพิ่มขึ้นสูงมาก เดิมทีในหมอพร้อมจะใช้วิธีกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยการให้ทำแบบสอบถาม แต่พอมาใช้เป็น AI วิเคราะห์ก็จะเพิ่มความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถในระดับ Direct Bio Tracker ที่สามารถวิเคราะห์การแสดงอารมณ์ของผู้ป่วยผ่านสีหน้าท่าทางที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับชีวภาพของร่างกายจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดเห็น เป็นสิ่งที่บางทีคนไข้ยังไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองแสดงออกมา

 

ทั้งนี้ AI จะประเมินลักษณะภาวะซึมเศร้าออกมาเป็นคะแนน หากคะแนนอยู่ในเกณฑ์สีเขียว คือยังอยู่ในภาวะปกติ สีเหลืองมีภาวะซึมเศร้า นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับเพื่อให้คำปรึกษาภายใน 7 วัน และสีแดง หมายถึงภาวะซึมเศร้ารุนแรง นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับภายใน 1-24 ชั่วโมง เกณฑ์เหล่านี้เป็นการจัดแบ่งตามการดูแลที่มีอยู่แล้วของกรมสุขภาพจิต โดย รศ.พญ.โสฬพัทธ์ ให้เหตุผลว่า หลักการทำงานร่วมกันจะต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่มากนัก แต่นำสิ่งที่แต่ละฝ่ายมีมาทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุด

“สิ่งที่สำคัญที่สุดข้อแรกคือประชาชนต้องเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ คนที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้งานแอปพลิเคชั่น สองก็คือต้องให้ความรู้สึกสบายใจกับผู้ใช้งาน มีอิสระที่จะพูด จากที่เคยทดลองนำไปใช้ บางครั้งคนไข้ที่ดูเหมือนจะปกติแล้วหรือมีอาการซึมเศร้าเล็กน้อยเมื่อมาพบแพทย์ พอให้มานั่งคุยกับแอปพลิเคชั่น DMIND ซึ่งเป็นลักษณะอวตาร์ (คุณหมอพอดี) คนไข้จะมีอาการพรั่งพรู และเผยความในใจออกมาโดยไม่รู้ตัวและไม่มีกำแพง จนทำให้เราได้ข้อมูลที่มันลึกจริงๆ มาเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ในการรักษา ซึ่งตอนแรกเราก็กลัวว่าคนไข้จะยอมเปิดใจกับเทคโนโลยีหรือเปล่า แต่พอมาลองใช้จริงแล้ว ผลลัพธ์ออกมาดีมากๆ” รศ.พญ.โสฬพัทธ์เผยถึงข้อดีของแอปพลิเคชั่นนี้

“สิ่งที่มีความสุขมากในวันนี้คือ โดยส่วนตัวหมอก็รู้แค่ในส่วนของตัวเอง นั่นคือศาสตร์ทางด้านจิตเวช แต่นาทีนี้ที่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือกับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สิ่งที่เราอยากได้และต่างประเทศทำได้ เราก็ร่วมกันฝ่าฟันจนสำเร็จออกมา ทำให้เห็น ว่าในจุฬาฯ เรานั้นมีคนเก่งอยู่มากมาย หากว่าเราคุยกันมากขึ้น ทำงานร่วมกันมากขึ้น เราจะสามารถทำในสิ่งที่เป็นนวัตกรรมระดับโลกได้” รศ.พญ.โสฬพัทธ์ กล่าว

 

การทำงานของแอปพลิเคชั่น DMIND

รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ถูกนำมาใช้งานในแอปพลิเคชั่นดังกล่าว เปิดเผยว่า DMIND เป็นปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าโดยตรง เริ่มต้นจากทางภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดย รศ.พญ.โสฬพัทธ์ ได้มาชวนให้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้ามาช่วยกันพัฒนาแอปพลิเคชั่นนี้ โครงการนี้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2563 โดยเมื่อปีที่แล้ว เรามีการร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต และมาในปีนี้ เราได้ขยายขอบเขตไปใช้งานในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม

การทำงานของระบบ DMIND ว่าประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือตัวแอปพลิเคชั่นในหมอพร้อม หรือ Automate Avatar ที่เป็น Mobile Application ที่คนไข้เข้ามาใช้งาน เมื่อมีการพูดคุยกับคนไข้ผ่านแอปก็จะได้ข้อมูลออกมาเป็นไฟล์วิดิโอ ซึ่งจะถูกส่งต่อไปให้ AI วิเคราะห์ในส่วนที่สอง และส่วนสุดท้ายคือ Web Base ที่แพทย์สามารถเข้ามาตรวจสอบย้อนหลังได้ หากมีผู้ใช้งานคนไหนที่ดูแล้วมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงก็จะมีแพทย์หรือนักจิตวิทยาจากสายด่วนกรมสุขภาพจิตเข้าไปติดตามให้การดูแลประชาชนทั่วไปสามารถใช้งานได้ง่ายๆ เพียงใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเข้าไปในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม เลือกส่วนใช้งาน “คุยกับหมอพร้อม (Chatbot)” เลือก “ตรวจสุขภาพใจ” เลือก “ตรวจสุขภาพใจกับคุณหมอพอดี” จากนั้นก็จะเป็นส่วนของการตอบแบบสอบถาม ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยคัดกรองและประเมินตัวเอง (ในกรณีที่ผู้ใช้งานไม่สะดวกใจที่จะใช้งานแบบต้องอัดเสียง เปิดกล้อง หรืออัดวิดีโอ) หากต้องการการประเมินเชิงลึก ผู้ใช้งานก็จะต้องอนุญาตให้มีการเปิดกล้องบันทึกเสียงและภาพเพื่อการประเมินและพูดคุยกับหมอพอดี (อวตาร์) โดยข้อมูลภาพและเสียงจะถูกเก็บเป็นความลับ อาจารย์พีรพลให้เหตุผลว่าที่ยังต้องมีการคัดกรองโดยการตอบแบบสอบถาม เนื่องจากผู้ป่วยเป็นซึมเศร้าหลายราย อาจจะยังไม่พร้อมที่จะไปพบแพทย์หรือเปิดเผยว่าตัวเองป่วย อาจจะต้องการประเมินด้วยตัวเองผ่านการตอบแบบสอบถามก่อน

จุดเด่นของแอปพลิเคชั่น DMIND

1.ใช้เทคโนโลยี AI ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และอารมณ์ ได้อย่างแม่นยำในระดับ Direct Bio Tracker และมีการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล จึงมีความแม่นยำสูง
2.เป็นแอปพลิเคชั่นหนึ่งเดียวของไทย ที่พัฒนามาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ ใช้ข้อมูลที่เก็บและทำวิจัยจากเคสของคนไทยโดยตรง

3.ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ทั้งเรื่องของการดูแลคนไข้ การติดตามการรักษา การเปลี่ยนยา ใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีการจิตบำบัด และสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดงานวิจัยเพื่อป้องกันและรักษาโรคซึมเศร้าในอนาคต

4.เข้าถึงง่ายผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม ใช้งานง่ายและเป็นมิตรต่อผู้ใช้ ทำให้ผู้ทีมีความเสี่ยงหรือมีปัญหาซึมเศร้าทุกคนสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชั่น DMIND ได้อย่างไร

ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง DMIND Application ได้ทาง https://bit.ly/DMIND_3 นอกจากนี้ DMIND Application ยังเชื่อมต่อกับช่องทางการสื่อสารของหมอพร้อม ได้แก่ LINE Official Account และ Facebook ซึ่งสามารถเข้าใช้บริการได้ผ่านขั้นตอนดังนี้

1. เข้าแอปพลิเคชัน Line หมอพร้อม กดลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อน https://bit.ly/2Pl42qo 

2. เลือกเมนู “คุยกับหมอพร้อม (Chatbot)”

3. เลือกเมนู “ตรวจสุขภาพใจ”

4. เริ่มทำแบบทดสอบ

ภาวะซึมเศร้า คืออะไร ?

โรคซึมเศร้านั้น คือ โรค อาการที่เกิดจากความรู้สึกผิดหวัง เสียใจอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนหรือเจอกับความเครียดความกดดันเป็นเวลานาน ทำให้ความผิดหวังเสียใจหรือความต้องการโต้แย้งนั้นเป็นยาวนานกว่าอารมณ์ปกติ และส่งผลให้มีอาการทางร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว หมดความสนใจโลกภายนอก มองโลกแง่ร้าย ขาดความมั่นใจ หรือจนกระทั่งไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการรักษา เพื่อให้คนป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติให้ได้

สาเหตุของโรคซึมเศร้า เกิดได้จากหลายปัจจัยหลักเหล่านี้ คือ

  1. พันธุกรรม จากการวิจัยพบว่าคนที่มีญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มีอาการเป็นซ้ำๆ หลายครั้ง
  2. สารเคมีในสมอง เปลี่ยนไปจากปกติไม่สมดุลย์ ซึ่งก็คือสาร ซีโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ลดต่ำลง และความบกพร่องของการทำงานร่วมกันของทั้งสารรับและส่งสื่อประสาท
  3. ลักษณะนิสัย คนที่มองโลกแง่ร้าย มองทุกอย่างไม่ดีรวมถึงตัวเองด้วย ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ตัวเองซึมเศร้าได้
  4. สภาพแวดล้อม เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เช่น การผิดหวังอย่างรุนแรง การเลี้ยงดูลูกแบบที่ไม่เคยได้รับการปฏิเสธมาก่อนเลยในชีวิต ได้รับความกดดันในชีวิตแล้วไม่สามารถรับมือได้ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าเหลืออยู่  

โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร  อาการของโรคซึมเศร้านั้นอยากให้สังเกต 2 ด้าน คือ ด้านของตัวผู้ป่วยเองกับด้านการสังเกตจากคนรอบข้าง

  1. ในด้านของผู้ป่วยเองนั้น จะเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์แบบสุดขั้ว บางคนอาจจะอารมณ์ดิ่งมากกว่าปกติ  เช่น เสียใจขั้นสุดถึงขั้นไม่เห็นคุณค่าของชีวิตอยากฆ่าตัวตาย ดีใจขั้นสุดยิ้มแย้มหัวเราะเต็มที่อยากทำอะไรไปทุกสิ่ง นอนไม่หลับ หรือบางคนเป็นตรงข้ามคืออยากนอนตลอดเวลา น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วหรือบางคนกินไม่หยุดกลายเป็นน้ำหนักตัวเพิ่ม อยากอยู่ลำพังไม่ค่อยอยากไปเจอคนขาดความมั่นใจ ไม่ค่อยมีสมาธิหลงลืมง่ายจำอะไรไม่ค่อยได้ หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ซึ่งคนที่ป่วยบางทีก็ไม่รู้ตัวว่าเค้ามีอาการเหล่านี้
     
  2. จากการสังเกตโดยคนรอบข้าง จะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ชัดเจนที่สุด ดูแปลกไปไม่เหมือนเดิมโดยเฉพาะในวัยรุ่นจะดูหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายกว่าปกติ หรือบางคนจะรู้สึกว่าความเข้าใจในการสื่อสารกับคนอื่นไม่ปกติ เหมือนจะตีความเรื่องต่างๆ ในมุมของตัวเองแบบแปลกๆ จำเรื่องที่เคยพูดไปก่อนหน้าซัก 1-2 ชั่วโมงไม่ได้ ดูไม่ค่อยมีสมาธิ งานที่ทำออกมาไม่ละเอียดรอบคอบ เช่น คุยกันไว้อย่างทำงานออกมาอีกอย่างแทน ลางาน ขาดงาน กิจวัตรประจำวันแปลกไป ไม่ค่อยอยากคุยกับใคร หรือบางครั้งควบคุมร่างกายให้อยู่นิ่งแบบปกติไม่ค่อยได้ ดูเป็นคนยุกยิกไม่อยู่นิ่ง ดูเศร้าๆ มองโลกแง่ลบมาก รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าทำอะไรไม่ค่อยได้เรื่อง คนรอบข้างจึงมีความสำคัญมากในการสังเกตคนใกล้ตัวของเราและพาไปรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ข่าวสารและสาระความรู้, Highlights, DMIND แอปพลิเคชั่นเพื่อคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
นวัตกรรม AI จากนักวิจัยคณะแพทย์และวิศวฯ จุฬาฯ
https://www.chula.ac.th/highlight/75794/#DMIND-คืออะไร
Agnos, แบบทดสอบ โรคซึมเศร้าจาก DMIND ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ถูกออกแบบ มาเป็นเพื่อนที่พร้อมรับฟัง ทุกความรู้สึกของคุณ และเช็กโรคซึมเศร้า
https://www.agnoshealth.com/services/mental_screening