การปฐมพยาบาลด้วยสมุนไพร ทดสอบแล้ว “ปลอดภัยและได้ผล”
“การปฐมพยาบาล” คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บด้วยเครื่องมือหรือวัสดุทางการแพทย์ เช่น ใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล ตามด้วยหยอดยาแดง จบที่การปิดผ้าก๊อซ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า สมุนไพรใกล้ตัวที่เราต่างรู้จักกันดี อาทิ ว่านหางจระเข้ บัวบก ฝรั่ง และพริก สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบหลักในการปฐมพยาบาล และช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยืนยันด้วยผลการศึกษาวิจัยทางคลินิก เรื่องการใช้สมุนไพรแต่ละชนิดกับการรักษาอาการเจ็บปวดต่าง ๆ
อ.ดร.ภญ.วรวรรณ กิจผาติ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การปฐมพยาบาลคือ การให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่าง ๆ อย่างกะทันหัน ณ สถานที่เกิดเหตุให้พ้นอันตราย ก่อนที่จะส่งไปให้แพทย์รักษาต่อไป โดยใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือเท่าที่หาได้ในขณะนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ป้องกันความพิการ บรรเทาความเจ็บปวดทรมาน และช่วยให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ซึ่งเราสามารถนำสมุนไพรมาใช้ในการปฐมพยาบาลให้กับอาการต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลสด หรือแม้แต่อาการฟกช้ำ บวม เคล็ดขัดยอก ก็มีสมุนไพรที่จะช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
อ.ดร.ภญ.ณัฏฐินี อนันตโชค สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายว่า แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก จัดแบ่งความรุนแรงของบาดแผลได้ 3 ระดับ แผลไหม้ระดับแรก: การไหม้จะจำกัดอยู่เฉพาะชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยบาดแผลจะแดงแต่ไม่มีตุ่มพอง มีความรู้สึกปวดหรือแสบร้อน แผลไหม้ระดับสอง: การไหม้จะลามลงไปถึงชั้นหนังแท้บางส่วน บาดแผลจะมีสีแดง มีตุ่มน้ำพอง ผิวหนังบริเวณนี้จะดูเปียกชื้นและไวต่อความรู้สึกเจ็บปวด แผลไหม้ระดับสาม: บาดแผลจะลึกลงไปจนทำลายชั้นหนังแท้ทั้งหมด ทำให้บาดแผลมีสีเข้มหรือซีด แห้งและแข็งเหมือนหนัง และเนื่องจากเส้นประสาทที่อยู่บริเวณผิวหนังแท้ถูกทำลายไปหมด จึงไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด
ขั้นตอนแรกของการปฐมพยาบาลเมื่อถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ควรรีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง อาจใช้สบู่อ่อนชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ ใช้ผ้าสะอาดปิดแผลแล้วรีบนำตัวผู้บาดเจ็บพบแพทย์ ไม่ควรใช้ยาสีฟันหรือครีมอื่นใดชโลมบนแผล เพราะอาจมีโอกาสติดเชื้อของแผล
อ.ดร.ภญ.ณัฏฐินี กล่าวอีกว่า “สมุนไพรที่ใช้สำหรับรักษาแผลไหม้ ได้แก่ ว่านหางจระเข้ โดยใช้น้ำวุ้นจากใบที่มีสรรพคุณรักษาแผลสด น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำให้แผลเป็นจางลง ดับพิษร้อน ทาผิวป้องกันและรักษาอาการไหม้จากแสงแดด ทาผิวรักษาสิว-ฝ้า และขจัดรอยแผลเป็น มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยสมานแผล ลดการอักเสบ เพิ่มการเจริญทดแทนของเนื้อเยื่อ จากการทดสอบในหนูทดลองโดยทาวุ้นสดและตำรับที่เป็นครีมพบว่า ช่วยลดอาการอักเสบและช่วยปกป้องผิวให้ถูกทำลายน้อยลง ทั้งในแผลไหม้ระดับแรกและระดับสอง นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ในคนที่มีแผลไหม้ระดับแรกและระดับสองพบว่า วุ้นว่านหางจระเข้มีผลช่วยให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้น และช่วยเร่งการสร้างเนื้อเยื่อผิว ซึ่งสารที่ออกฤทธิ์คือ กลัยโคโปรตีน (Lectins: aloctin A) ที่สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน”
ข้อควรระวังของการใช้ว่านหางจระเข้ มีการวิจัยพบว่าการใช้เป็นยาภายนอกอาจพบอาการแพ้ได้ แต่น้อยมาก (ไม่ถึง 1%) โดยเมื่อทาหรือปิดวุ้นลงบนผิวหนังแดงเป็นแผ่นบาง ๆ บางครั้งเจ็บแสบ อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากทายา 2-3 นาที ถ้ามีอาการเช่นนี้ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที และไม่ควรใช้ซ้ำอีก
“สมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่สามารถช่วยรักษาแผลไหม้ได้คือ น้ำมันมะพร้าว ส่วนที่นำมาใช้คือ นำ้มันจากเนื้อมะพร้าว ซึ่งมีองค์ประกอบทางเคมีเป็นกรดไขมันอิ่มตัวขนาดกลาง เช่น กรดลอริก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ และมีวิตามินอี สามารถใช้ทาแผลที่เกิดจากความเย็นจัดหรือถูกความร้อน ทาแก้โรคผิวหนังต่าง ๆ ให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวหนัง โดยมีผลการวิจัยยืนยันว่า การใช้น้ำมันมะพร้าวร่วมกับยาทา silver sulphadiazine ทำให้การสมานแผลในหนูทดลองที่มีแผลไหม้ระดับสอง ช่วยให้การสมานแผลเร็วขึ้น” อ.ดร.ภญ.ณัฏฐินี กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ภญ.วีณา นุกูลการ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลการปฐมพยาบาลเมื่อเกิดบาดแผลว่า บาดแผล คือ การที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งผิวหนังและเนื้อเยื่ออาจไม่ฉีกขาดหรืออาจมีบางส่วนฉีกขาดออกจากกัน มี 2 ลักษณะคือ แผลเปิดหรือแผลสด กับแผลปิดหรือแผลที่มีเลือดคั่ง ในกรณีที่เกิดแผลสดให้รีบทำการห้ามเลือด โดยการใช้ผ้าที่สะอาดมากดทับแผลอย่างน้อย 30 นาที พร้อมทั้งยกส่วนที่มีบาดแผลให้สูงกว่าหัวใจ สมุนไพรสำหรับรักษาแผลสด ได้แก่ สาบเสือ ฝรั่ง บัวบก และมังคุด
ผศ.ดร.ภญ.วีณา กล่าวต่ออีกว่า “สาบเสือ นำมารักษาโดยใช้ส่วนที่เป็นใบ มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาทำให้เลือดหยุดไหล สมานแผล ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพได้ สรรพคุณของสาบเสือคือ ช่วยในการห้ามเลือด รักษาแผลสด สมานแผล รักษาแผลเปื่อย แก้อักเสบ และแก้ริดสีดวงทวารหนัก และจากผลการศึกษาทางคลินิกพบว่า ใยสาบเสือแบบสดและแบบแห้งสามารถห้ามเลือดในผู้ป่วยมีบาดแผลฉีกขาดของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอยได้เร็วกว่าการใช้ผ้าก๊อซอย่างเดียวประมาณ 10-15 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความลึกของบาดแผลด้วย โดยนำใบสดมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาขยี้หรือโขลกให้ละเอียดแล้วพอกที่แผลสดทันที และยังสามารถทำใบสาบเสือแห้งเก็บไว้ได้ เนื่องจากใบของสาบเสือมีส่วนประกอบของน้ำมันระเหย เทอร์พีน สเตียรอล คูมาริน และฟลาโวนอยด์หลายชนิด โดยสารสำคัญเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดหดตัว และกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมที่ช่วยให้เลือดหยุดไหลได้อีกด้วย”
“ฝรั่ง” ผลไม้ลูกสีเขียวอ่อน รสชาติหวานกรอบ ก็สามารถนำมาใช้ในการปฐมพยาบาลได้เช่นกัน แต่ส่วนที่นำมาใช้คือ ใบ เนื่องจากใบฝรั่งมีส่วนประกอบสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหย สารกลุ่มแทนนิน มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อโรค ลดอาการอักเสบของกระเพาะ ลำไส้ ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และยังช่วยลดอาการเกร็งตัวของลำไส้ ทำให้อาการปวดท้องบรรเทาลงได้ และแก้อาการปวดเบ่ง วิธีการใช้ในการห้ามเลือดคือ นำใบสดประมาณ 5 ใบ มาล้างให้สะอาด โขลกให้ละเอียด อาจผสมกับน้ำปูนใสเล็กน้อย แล้วนำมาพอกที่แผล กดไว้สักครู่แล้วล้างออก
ผศ.ดร.ภญ.วีณา กล่าวต่อไปอีกว่า “บักบก สามารถใช้ได้ทั้งต้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ สารกลุ่มไตรเทอร์พีน และกลัยโคไซด์ ได้แก่ กรดเอเชียติก, เอเชียติโคไซด์ และแมดิเคสโซไซด์ มีสรรพคุณในการสมานแผล ห้ามเลือด แก้ช้ำใน แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ฤทธิ์สมานแผล โดยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและเนื้อเยื่อประสาน และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในร่างกาย ผลการศึกษาทางคลินิกพบว่า ครีมที่มีสารสกัดบัวบกทำให้แผลหลังผ่าตัด แผลอักเสบ แผลเรื้อรัง และแผลในปากหายเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นยาในบัญชียาหลักในรูปแบบครีมที่มีสารสกัดเอทานอลจากใบบัวบกสด 7% w/w ส่วนวิธีการใช้เพื่อการรักษาก็เป็นวิธีเดียวกันกับในฝรั่ง”
“มังคุด ส่วนที่ใช้คือ เปลือกผลแห้ง องค์ประกอบสำคัญคือ สารกลุ่มแทนนิน และกลุ่มแซนโทน สรรพคุณรสฝาดรักษาบาดแผล แก้แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง แก้ท้องร่วง ท้องเดิน แก้บิด วิธีใช้นำเปลือกผลสดหรือแห้ง ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้นพอควร นำมาทาแผลวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติในรูปแบบยาน้ำใสที่มีสารสกัดเอทานอลของเปลือกมังคุดแห้ง 10% น้ำหนักต่อปริมาตร (w/v) ยาใช้ภายนอกเพื่อทาแผลสดและแผลเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตา” ผศ.ดร.ภญ.วีณา กล่าวทิ้งท้าย
อาการฟกช้ำ คล้ำเขียว บวม เคล็ดขัดยอก หรือการอักเสบ เกิดจากการตอบสนองทางชีวภาพที่ซับซ้อนของเนื้อเยื่อหลอดเลือดต่อสิ่งกระตุ้นที่เป็นอันตราย เช่น เชื้อโรค เซลล์ที่เสื่อมสภาพ หรือการระคายเคือง เมื่อเกิดอาการควรประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูง เพื่อลดการไหลเวียนของเลือด ห้ามคลึงหรือถูนวดของร้อนภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก สำหรับสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ได้แก่ ไพล พริก และ พลับพลึง
รศ.ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ไพล ที่นำมาใช้ในการปฐมพยาบาลต้องใช้ส่วนเหง้า ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหยที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ เช่น sabinene, α-terpinene, γ-terpinene, terpinen-4-ol, α-pinene สารสีเหลือง curcmin และสาร butanoids derivatives มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ช่วยต้านการอักเสบ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ฤทธิ์ต่อเซลล์ประสาท (ยาชาเฉพาะที่) ต้านภูมิแพ้ และต้านเชื้อจุลินทรีย์ มีผลวิจัยทางคลินิกยืนยันอีกว่า ไพลมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด ต้านฮีสตามีนและต้านหอบหืด อีกทั้งยังเป็นสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก อยู่ในรูปแบบของครีมที่มีปริมาณน้ำมันระเหยง่าย 14% โดยปริมาตรต่อน้ำหนัก และน้ำมันไพลที่สกัดด้วยวิธีการทอด ใช้ทาและถูเบา ๆ บริเวณที่มีอาการวันละ 2-3 ครั้ง ห้ามใช้ทาบริเวณขอบตาและเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ห้ามทาบริเวณที่มีบาดแผลเปิด และไม่แนะนำให้ใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือระหว่างให้นมบุตรและเด็กเล็ก เนื่องจากยังมีการศึกษาด้านความปลอดภัยไม่เพียงพอ”
รศ.ดร.สุจิตรา กล่าวต่ออีกว่า “ผลของ พริก มีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ สารกลุ่มแคปไซซินอยด์ สารกลุ่ม คาโรทีนอยด์ สารกลุ่มแอนโทไซยานิน และสารกลุ่มกรดไขมันอิสระ มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาลดอาการปวด ลดการอักเสบ ต้านสะเก็ดเงิน บรรเทาโรคกระเพาะอาหาร เพิ่มการใช้พลังงาน รักษาน้ำหนักหลังการลดน้ำหนักตัว สรรพคุณแก้ปวดตามข้อ ฟกช้ำดำเขียว แก้เคล็ดขัดยอก ช่วยระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น แก้หวัด ขับลม ช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น”
บัญชียาหลักแห่งชาติได้ระบุไว้ว่า “พริก” เป็นยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก มีทั้งในลักษณะของเจล ครีม และขี้ผึ้ง ใช้ทาบริเวณที่ปวด 3-4 ครั้งต่อวัน ผลการวิจัยทางคลินิกพบว่า ยาพอก: สารสกัดพริก + indomethacin และสารสกัดพริก + methyl salicylate โดยทดลองในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย carrageenan พบว่า ยาพอกที่ผสม indomethacin สามารถลดอาการบวมและยับยั้งการสร้าง granulation tissue ได้ ขณะที่ยาพอกที่ผสม methyl salicylate จะไม่มีผล
“ข้อควรระวังในกรณีที่ใช้ร่วมกับยารักษาโรคความดันโลหิตสูงจำพวก ACE inhibitor อาจทำให้เกิดอาการไอเพิ่มมากขึ้น และอาจเพิ่มการดูดซึมของยาโรคหอบหืด คือ Theophylline ชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน และควรระวังเมื่อใช้เจลพริกร่วมกับยากลุ่มต่อไปนี้ ได้แก่ Angiotensin converting enzyme inhibitors, Barbiturates, Theophylline, Anticoagulants, Antiplatelet agents, Thrombolytic agents, Low molecular weight heparins อาจพบอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ผิวหนังแดง ปวด และแสบร้อน ห้ามใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยา capsaicin ห้ามสัมผัสบริเวณตา ผิวหนังที่บอบบาง หรือบริเวณผิวหนังที่แตกหรือมีบาดแผล เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคือง” รศ.ดร.สุจิตรา กล่าวทิ้งท้าย
จากข้อมูลทั้งหมดคงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า “สมุนไพรใกล้ตัว” ที่นอกจากจะนำมาทำเป็นอาหารการกิน ใช้บำรุงผิวพรรณและเส้นผมได้แล้ว ยังเป็นยาที่ใช้เพื่อการปฐมพยาบาลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพียงแต่ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้างมากนัก ซึ่งการได้ทราบข้อมูลเหล่านี้คงช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของสมุนไพร และสามารถนำไปใช้เพื่อการปฐมพยาบาลได้อย่างถูกวิธี และถือเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์สมุนไพรอันทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบต่อไป