‘นอนไม่หลับ’ มฤตยูเงียบนำโรคร้าย รักษาก่อนสายเกินแก้
ปัจจุบันแนวโน้มปัญหานอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณร้อยละ 30 ของประชากรเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ และร้อยละ 6-10 ของประชากรมีปัญหาการนอนไม่หลับรุนแรงถึงขั้นต้องได้รับการรักษา ปัญหาการนอนไม่หลับเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การรบกวนจากอาการของโรคทางกาย เช่น อาการปวด ปัสสาวะบ่อยกลางคืน และจากโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรคแพนิค โรคอารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยหลายรายที่มีปัญหาการนอนไม่หลับมาจากพฤติกรรมการนอนและสิ่งแวดล้อมก่อนนอนที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการนอน เช่น มีความสว่างมากเกินไป มีเรื่องคิดรบกวนก่อนนอนมาก เข้านอนตื่นนอนไม่เป็นเวลา เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไป มีอัตราเสี่ยงสูงขึ้นเนื่องจากมีฮอร์โมนเมลาโทนินลดลง เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้เกิดการนอนหลับซึ่งแตกต่างไปจากยานอนหลับทั่วไป
ผศ.นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และผู้อำนวยการคลินิกปัญหาการนอน โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ปัญหาอาการนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ช่วงของการนอนหลับจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ช่วงเวลาของการนอนหลับลึกจะน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในช่วงเด็กหรือวัยรุ่น อีกทั้งผู้สูงอายุยังมีโอกาสเสี่ยงต่อปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทบต่อการนอนหลับได้มากกว่า เช่น โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ภาวะทางจิตใจ ภาวะเครียด เป็นต้น ทั้งนี้การนอนหลับที่เพียงพอไม่ได้พิจารณาจากจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการนอนหลับ แต่พิจารณาจากความสดชื่นเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
การนอนไม่หลับนอกจากจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อารมณ์ และพฤติกรรมแล้ว ในระยะยาวยังมีผลกระทบต่อชีวภาพของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งเรื่องความดันโลหิต ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ทำให้เป็นหวัดบ่อยขึ้น เป็นภูมิแพ้ง่ายขึ้น และยังมีผลต่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วย
จากรายงานการศึกษาในปี ค.ศ. 2010 ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อ Sleep โดยทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย ซึ่งทำการวิจัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนจำนวน 30,397 คน พบว่า จำนวนชั่วโมงการนอนหลับมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะคนที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่นอน 7 ชั่วโมงเป็น 2 เท่า โดยความเสี่ยงจะสูงขึ้นในผู้หญิงและในคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี จึงนับเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับหรืออดนอน หรือจากรายงานการสำรวจประชากร 52,000 ราย ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน พบว่าผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับเกือบทุกคืนจะเพิ่มโอกาสของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) สูงขึ้นเกือบ 50% นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับเป็นระยะเวลานาน ๆ มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าอีกด้วย
สำหรับสาเหตุของอาการนอนไม่หลับแบ่งได้เป็น หาสาเหตุไม่ได้ หรือ Primary insomnia กับหาสาเหตุได้ ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งมาจากโรควิตกกังวล และโรคอารมณ์ซึมเศร้า นอกจากนั้นมาจากเรื่องความเครียดในชีวิตประจำวัน
การรักษาอาการนอนไม่หลับควรรักษาตั้งแต่ต้นเพื่อไม่ให้เกิดอาการเรื้อรัง และอาจช่วยไม่ให้เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนตามมา โดยแนวทางการรักษาในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ
1. ปรับพฤติกรรมการนอนหลับของผู้ป่วยให้ดีขึ้น มนุษย์จะนอนได้นั้นร่างกายจะต้องการ 2 สัญญาณสำคัญคือ ความมืด และความสงบ ความมืดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเมลาโทนิน ทำให้การตื่นตัวของร่างกายลดลง อุณหภูมิร่างกายลดลง และเหนี่ยวนำให้ศูนย์นอนเริ่มทำงานทำให้เกิดการนอนหลับ ส่วนความสงบ พฤติกรรม จิตใจ และสมองจะต้องมีความสงบพอสมควรจึงจะสามารถนอนหลับได้ แพทย์จะตรวจพฤติกรรมการนอนหลับว่าผู้ป่วยสามารถสร้างสัญญาณ 2 อย่างนี้ได้หรือไม่ และแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมของตนเองเป็นอันดับแรกซึ่งสำคัญที่สุด
2. สร้างโปรแกรมพฤติกรรมบำบัด ผู้ป่วยจะต้องพบแพทย์เพื่อสร้างโปรแกรมการรักษาอาการนอนไม่หลับ ซึ่งแพทย์หรือนักบำบัดจะต้องวิเคราะห์ว่าสาเหตุอะไรที่ไปขวางทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และเป็นการสร้างพฤติกรรมใหม่ ๆ ได้แก่ Stimulous control therapy เป็นการรักษาที่ควบคุมสิ่งเร้าที่มารบกวนการนอน โดยทำการสืบค้นว่าอะไรเป็นสิ่งเร้าที่มาขวางทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ แล้วจัดการควบคุมสิ่งเร้านั้น และ Relaxation technique เป็นเทคนิคที่สอนให้ผู้ป่วยผ่อนคลายก่อนเข้านอน ทั้งสองวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความสงบมากขึ้น
3. การรักษาด้วยยา มีตัวยาหลายชนิดที่สามารถใช้รักษาหรือบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ อย่างยาในกลุ่ม Benzodiazepines ซึ่งได้แก่ diazepam, alprazolam, dormicum, xanax แต่ยาเหล่านั้นก็ยังมีผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือ อาการเพลีย และอาจรู้สึกง่วงซึมได้ในวันถัดไป และยังมีปัญหาการดื้อยาง่าย ทำให้ต้องรับประทานยาเพิ่มขนาดขึ้นไปเรื่อย ๆ อาจมีอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าเดิมเกิดขึ้นหลังจากการหยุดยาอย่างกะทันหัน ผู้ป่วยต้องกลับไปใช้ยาใหม่อีกครั้ง จึงทำให้ผู้ป่วยหลุดจากวงจรของยานอนหลับได้ยาก และหากรับประทานยาขนาดสูง ๆ จะทำให้ความทรงจำของผู้ป่วยหายไปช่วงหนึ่งหลังรับประทานยา จึงทำให้มีการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด ปัจจุบันเป็นยาควบคุมพิเศษ จำเป็นต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น จึงเกิดยาอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาในปัจจุบันที่เริ่มใช้กันมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับมากขึ้นคือ เมลาโทนิน (Melatonin)
ผศ.นพ.สุรชัย กล่าวต่อว่า เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตได้เองจากต่อมไพเนียล (Pineal gland) ในสมอง ระดับของเมลาโทนินจะขึ้นลงในแต่ละวัน โดยแสงสว่างทำให้มีการผลิตเมลาโทนินน้อยในช่วงเวลากลางวัน และแสงสว่างที่ลดลง หรือความมืดทำให้มีการผลิตเมลาโทนินมากในช่วงเวลากลางคืน ทั้งนี้ระดับของเมลาโทนินจะลดลงในผู้ที่อายุเกิน 55 ปีขึ้นไป
การรักษาอาการนอนไม่หลับด้วยเมลาโทนิน (Melatonin) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกจากยานอนหลับทั่วไป เมลาโทนินเริ่มนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในการรักษาปัญหาการนอนไม่หลับในรูปแบบของอาหาร นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ของเมลาโทนินในการช่วยปรับเวลานอนหลับ และหายจากการอ่อนเพลียในการเดินทางข้ามโซนเวลา (Jet lag) เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านเนื้อร้ายของโรคมะเร็ง และการชะลอวัย
นอกจากนี้เมลาโทนินยังมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งถ้ามีอนุมูลอิสระมากจะทำอันตรายต่อเซลล์ ทำให้เกิดการชราภาพของเซลล์ โดยเมลาโทนินจะไปจับหรือกำจัดอนุมูลอิสระจึงเป็นเหมือนการปกป้องเซลล์ ทำให้เชื่อว่าเมลาโทนินมีคุณสมบัติชะลอความชราภาพโดยผ่านกระบวนการกำจัดอนุมูลอิสระนี้ แต่เดิมเมลาโทนินที่มีขายกันในท้องตลาดเป็นรูปแบบอาหารเสริมที่ออกฤทธิ์สั้น และไม่ใช่ยา ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และไม่มีการควบคุมการผลิตและคุณภาพอย่างเข้มงวดเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ถูกจัดว่าเป็นยา ทำให้ไม่มีเครื่องรับประกันถึงคุณภาพและความบริสุทธิ์ และยังมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันมีเมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์นานที่ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นยาจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย มีส่วนประกอบของเมลาโทนิน 2 มิลลิกรัมต่อเม็ด และได้รับการศึกษายืนยันถึงประสิทธิภาพในการรักษาปัญหาการนอนไม่หลับแบบปฐมภูมิ (Primary Insomnia) ในผู้ป่วยอายุ 55 ปีขึ้นไป และสามารถใช้ได้นานต่อเนื่อง 3 เดือน โดยไม่มีปัญหาของการดื้อยา และไม่มีอาการถอนยาถ้าหยุดยา
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาไม่ใช่คำตอบเดียวในการรักษา ผู้ป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมในการนอนให้แข็งแรงขึ้นด้วย ซึ่งการรับประทานยาจะช่วยในการปรับพฤติกรรม ช่วยให้ศูนย์นอนของผู้ป่วยกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น หากรักษาได้เร็วก็จะหายเร็ว โดยเฉลี่ยอาการจะดีขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์-1 เดือน หากผู้ป่วยปรับพฤติกรรมและรักษาพฤติกรรมการนอนที่ดี อาการนอนไม่หลับก็จะไม่กลับมา