ความยุติธรรม คืออะไร

ความยุติธรรม คืออะไร

ความยุติธรรมมีจริงหรือไม่ ? ความยุติธรรมนั้นเมื่อเราแยกจากหมวดหมู่ของคำก็จะรู้ว่า คำว่าความยุติธรรมนั้นเป็นนามธรรม (abstract noun) คือไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ “ความยุติธรรมตามธรรมชาติ” หรือกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินั้นมีอยู่จริง มันคือกฎเกณฑ์ วิถีทาง ปรากฏการณ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ แต่ในสังคมของมนุษย์กลับมีการสร้าง “ความยุติธรรมตามกฎหมาย” เพื่อเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขซับซ้อน เพื่อไปสู่ข้อยุติของปัญหาต่าง ๆ ข้อแตกต่างของความยุติธรรมตามธรรมชาติกับความยุติธรรมตามกฎหมายคือ ความยุติธรรมตามธรรมชาตินั้นมีความเท่าเทียมกันทั่วโลก (แท้จริงแล้วเท่าเทียมกันทั่วทั้งจักรวาล) ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ตกทางทิศตะวันตก สายน้ำไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำ เป็นต้น ความจริงเหล่านี้คือความยุติธรรม ไม่เคยมีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการเลือกชนชาติ ไม่มีการเลือกเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเกิดพายุ เกิดสึนามิ น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ภูเขาไฟระเบิด ปรากฏการณ์เหล่านี้มนุษย์เราสัมผัสรับรู้ได้ มันเป็นไปตามธรรมะ เป็นไปตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลตามที่ควรจะเป็น แต่ความยุติธรรมตามกฎหมายที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นเองนั้นกลับเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคนจะสัมผัสรับรู้ได้ กลายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะว่าจิตใจ (mental) ของคนแต่ละคนยอมรับกฎหมายได้ไม่เท่ากัน

 

ความยุติธรรมมีอยู่จริงหรือไม่ ?

            ในสังคมของมนุษย์พยายามจะหาความยุติธรรมให้ได้ โดยบัญญัติศัพท์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงความยุติธรรม ซึ่งพอจะหาคำนิยามของคำว่ายุติธรรมได้คือ ความยุติธรรม (justice) หมายถึง ความเที่ยงธรรม (rectitude); ความชอบธรรม (righteousness); ความชอบด้วยเหตุผล (fairness); ความถูกต้อง (rightness) แต่ถึงแม้จะบัญญัติศัพท์นี้ให้พิสดารอย่างไร สังคมมนุษย์ก็ยังไม่เกิดความยุติธรรมขึ้นอยู่ดี ดังเช่นความวุ่นวายในสังคมที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น เพราะต้องการให้เกิดความชอบธรรม นักศึกษาจึงเดินขบวนประท้วง กรรมการที่ตัดสินกีฬาต้องมีความเป็นกลางเป็นสำคัญ แต่ก็มีการประท้วงการตัดสินของกรรมการเกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นสุภาษิตกฎหมายยังกล่าวไว้ด้วยว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม (Justice delayed is justice denied) แสดงให้เห็นว่า แม้สังคมมนุษย์จะปกครองด้วยระบอบนิติรัฐก็ตาม แต่มนุษย์ก็ยังคงไม่สามารถค้นพบหาความยุติธรรมที่ชอบธรรมได้ บทความนี้มิบังอาจสรุปว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไรกันแน่ แล้วความยุติธรรมที่แท้จริงนั้นมีอยู่หรือไม่ แต่จะขอน้อมแบ่งปันเรื่องราวที่ได้อ่านมาเพื่อเล่าสู่กันฟัง แล้วพวกเราอาจจะยอมรับ “ความยุติธรรม” ที่ปรากฏมีอยู่จริงในโลกปัจจุบันของมนุษย์ได้ดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง

 

"เท่าเทียม" ไม่ได้หมายความว่า "ยุติธรรม"

 

            มีคำพูด 2 คำที่มักจะถูกนำมาใช้อ้าง คือ “เท่าเทียม” กับ “ยุติธรรม” โดยตีความหมายอย่างผิด ๆ ว่า การทำให้คนได้รับอะไรเท่า ๆ กัน ก็คือความเท่าเทียม และเท่าเทียมก็คือความยุติธรรม ถ้าเช่นนั้นโปรดพิจารณารูปข้างต้นโดยละเอียดเพื่อจะได้ร่วมกันพิจารณาให้เห็นว่า “ความเท่าเทียมไม่ได้หมายความว่าจะยุติธรรม”

            ภาพด้านซ้ายชื่อ “เท่าเทียม” มีคน 3 คน ส่วนสูงแตกต่างกัน แต่ทุกคนได้รับลังไม้เท่ากันคนละหนึ่งลัง เพื่อเพิ่มความสูงให้กับตัวเอง ผลปรากฏว่าคนสูงที่สุดกลายเป็นสูงชะลูด เดิมสามารถมองข้ามรั้วดูกีฬาได้อยู่แล้ว เมื่อยืนบนลังไม้หนึ่งอันก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนคนสูงปานกลางเมื่อได้ลังไม้มาหนึ่งลังเป็นฐานก็ช่วยเพิ่มความสูงให้สามารถดูกีฬาพ้นขอบรั้วพอดี แต่คนสุดท้ายตัวเตี้ยที่สุด แม้ได้ลังไม้มาหนึ่งลังเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ก็ไม่ช่วยเพิ่มความสูงให้พ้นขอบรั้ว ไม่สามารถมองเห็นการแข่งขันกีฬาได้อยู่ดี

            ภาพด้านขวาชื่อ “ยุติธรรม” เป็นภาพคนที่มีส่วนสูงแตกต่างกัน 3 คนเดิม แต่คราวนี้ได้รับจัดสรรลังไม้แตกต่างกัน ได้รับไม่เท่ากัน โดยคนตัวสูงที่สุดไม่ได้รับลังไม้เลย เพราะมีส่วนสูงพ้นขอบรั้ว สามารถดูกีฬาได้เองอยู่แล้ว ส่วนคนที่สูงปานกลางก็ได้รับลังไม้หนึ่งลังเพียงพอที่จะต่อส่วนสูงให้พ้นขอบรั้ว สามารถดูกีฬาได้เช่นกัน และคนที่ตัวเตี้ยสุด ร่างกายเสียเปรียบคนอื่นมากที่สุด ปรากฏว่าได้รับลังไม้มากที่สุดถึงสองลัง กระทั่งเพิ่มความสูงให้พ้นขอบรั้ว สามารถดูกีฬาได้เหมือนกับสองคนที่เหลือ

            จากภาพ พิจารณาได้ว่า

            1. หากเรายึดถือความเท่าเทียม โดยตีความว่าจะต้องให้สิ่งของ ให้ผลประโยชน์แก่คนในสังคมเท่า ๆ กันทุกคน โดยไม่ต้องดูพื้นฐานของแต่ละคนที่อาจไม่เท่ากันอยู่เดิม ในที่สุดสังคมก็อาจจะเกิดปัญหาที่เรียกว่า “ไม่ยุติธรรม”

            2. ขณะเดียวกันในภาพด้านขวามีการแบ่งลังไม้ไม่เท่ากัน โดยเอาลังไม้ไปให้คนตัวเตี้ยมากที่สุด อาจจะถูกกล่าวหาว่า “ไม่เท่าเทียม” แต่กลับช่วยทำให้เกิด “ความยุติธรรม” หรือ “ความเป็นธรรม”

            3. ในความเป็นจริงคนเราเลือกเกิดไม่ได้ มีทรัพย์สิน เงินทอง ฐานะครอบครัว มรดก เงินทุน การศึกษา มีโอกาส มีความสามารถมากน้อยแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อพื้นฐานของคนในสังคมไม่เท่ากัน มีความแตกต่างหลากหลายแต่ต้องอยู่ร่วมกัน รัฐควรจัดการกับทรัพยากรของประเทศอย่างไร จะจัดเก็บภาษีและจัดสรรภาษีอย่างไร เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม รัฐมีทางเลือกดังต่อไปนี้

            ก. รัฐเก็บภาษีจากทุกคนในจำนวนเท่ากัน ไม่ว่ายากดีมีจนก็เรียกเก็บเท่ากันหมด แล้วก็จัดสรรผ่านงบประมาณ แจกจ่ายให้ทุกคนเท่า ๆ กัน

            ข. รัฐเก็บภาษีจากคนที่มีกำลังความสามารถสูงในจำนวนที่มาก แล้วเอาไปใช้ให้คนในสังคมเท่า ๆ กันทุกคน

            ค. รัฐเก็บจากคนที่มีกำลังมาก มีรายได้มาก ในอัตราภาษีที่สูง ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องแบกรับการจ่ายภาษีมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ แล้วนำไปจ่ายให้คนที่ด้อยโอกาสในสังคมมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ

            หากสังคมที่พึงปรารถนา คือสังคมที่มีความยุติธรรม มีความเป็นธรรม เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ช่วยเหลือให้คนด้อยโอกาสให้มีโอกาสมากขึ้น สามารถมีโอกาสพัฒนาตนเองให้มีความสามารถมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น รัฐก็คงจะต้องดำเนินการตามแนวทางข้อ ค. แต่ตามความเป็นจริงในปัจจุบันปรากฏว่า

          1. ปัจจุบันรัฐแสวงหารายได้จากภาษีทางอ้อม ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร มูลค่ารวมคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของรายได้ของรัฐทั้งหมด ซึ่งภาระภาษีเหล่านี้จะไปตกอยู่กับผู้บริโภค เรียกว่า เก็บจากคนรวย-คนจนในอัตราเท่ากัน คือ 7% ของราคาสินค้า ไม่ว่าจะสูง-ต่ำ ดำ-ขาว หรือยากดีมีจน ก็ถูกเก็บภาษีในอัตราเท่ากัน เช่นเดียวกับภาษีสรรพสามิต รัฐเก็บภาษีเหล้าและบุหรี่ต่อขวดต่อซองในจำนวนเท่ากันจากคนรวยและคนจน

          2. ปัจจุบันรัฐบาลจัดเก็บภาษีทางตรงที่คำนวณบนฐานของรายได้ประชาชน ประเภทที่ใครมีรายได้มากก็จ่ายภาษีมาก ใครมีรายได้น้อยก็จ่ายภาษีน้อย ขณะนี้รัฐจัดเก็บภาษีประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 30% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐ ที่มาของรายได้มาจาก 5 แบบ ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร การเก็บภาษีปัจจุบันเฉพาะรายได้ที่มาจากเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าเช่า ที่รัฐจัดเก็บภาษีในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณรายได้ แต่ดอกเบี้ยและกำไร รัฐยังเก็บอัตราคงที่ รายได้จากดอกเบี้ย รัฐยังเก็บภาษีในอัตราคงที่ 15% ส่วนรายได้จากกำไรผลประกอบการ รัฐเคยจัดเก็บภาษีร้อยละ 30 แต่รัฐยังมีนโยบายลดภาษีรายได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 23 และจะลดเหลือร้อยละ 20 ต่อไป กำไรจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี

            จะเห็นว่าประชาชนผู้มีรายได้ดีมักเป็นบุคคลที่มีรายได้จากค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร มีสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีอากรได้หลายวิธี ต่างกับคนที่มีรายได้จากเงินเดือนและค่าจ้างที่มีภาระภาษีที่มากกว่า ซ้ำยังต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตั้งแต่ต้น

          3. รัฐยังคงนโยบายหารายได้จากหวย ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “ภาษีคนจน” เพราะรวมเอาเงินค่าหวยของผู้ซื้อทุกคน นำเพียง 60% มาแบ่งเป็นเงินรางวัลให้แก่ผู้ชนะซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของผู้เล่นหวยทั้งหมด ขณะเดียวกันนำ 28% เป็นรายได้ให้รัฐบาล อีก 12% เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยที่คนเล่นหวยส่วนมากก็เป็นคนจน แต่เมื่อเทียบกับคนเล่นหุ้น บุคคลเหล่านี้รัฐกลับยกเว้นภาษีให้คนเล่นหุ้น ทั้ง ๆ ที่บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะค่อนข้างดีอยู่แล้ว

          4. การใช้จ่ายเงินภาษีของรัฐ รัฐบาลใช้จ่ายไปกับเงินเดือนและค่าจ้างของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าร้อยละ 50 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละปี ที่เหลือก็จ่ายเป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ การเดินทาง ฯลฯ อีกจำนวนมาก นโยบายที่จัดสรรเงินลงไปสู่ชุมชนหมู่บ้าน เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล กองทุนสตรีฯ เป็นนโยบายที่ดี แต่มีคำถามว่า เมื่อศักยภาพของแต่ละหมู่บ้านแตกต่างกัน แต่เหตุใดจึงจัดสรรให้เท่า ๆ กัน

          ถ้ากลับไปพิจารณาภาพข้างต้น ก็เปรียบได้กับการให้ลังไม้เท่า ๆ กัน เหมือน ๆ กัน ในภาพซ้ายมือ ขณะที่แต่ละชุมชนหมู่บ้านมีศักยภาพพื้นฐานแตกต่างกัน

          5. นโยบายของรัฐในด้านกระตุ้นเศรษฐกิจและประชานิยม รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ยังมีการคืนภาษีรถคันแรก บ้านหลังแรก เป็นการจ่ายภาษีให้แก่กลุ่มคนที่มีกำลัง มีโอกาส มีรายได้ในระดับที่สามารถจะจ่ายภาษีได้เองอยู่แล้ว แทนที่จะเอาเงินภาษีส่วนนี้ไปช่วยเสริมศักยภาพของส่วนรวมหรือช่วยเหลือกลุ่มคนยากไร้จริง ๆ แม้แต่นโยบายการรับจำนำพืชผล เช่น จำนำข้าว ก็ยังเป็นปัญหาว่าเป็นการช่วยเกษตรกรชาวนาได้รับประโยชน์จริงหรือไม่ เกิดความเท่าเทียมและมีความยุติธรรมจริงหรือไม่ ส่วนนโยบายภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน รวมถึงบำนาญประชาชนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยตรง ทางรัฐเองกลับไม่ได้สานต่อหรือผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

หมายเหตุ : เป็นบทความของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง; ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต ที่คัดจาก http://www.naewna.com/politic/columnist/4922

 

ความยุติธรรมของพ่อ”

            นายวิทยา สุริยะวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวไว้ว่า ความยุติธรรมนั้นเป็นนามธรรมมาก ๆ ... “ยุติธรรมคือการแบ่งครึ่งหรือเปล่า หรือดำกับขาว ต่างก็มองไม่เหมือนกัน บางครั้งความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะการจะทำให้สังคมสงบสุขมีได้หลายมิติ ใช่เพียงทำตามกฎหมายเท่านั้น ที่เราทะเลาะกันทุกวันเพราะต่างหยิบยกกฎหมาย ทั้งที่บางเรื่องกฎหมายก็ไปไม่ถึง ทำอะไรไม่ได้ วันนี้ตั้งโจทย์ว่าเป้าหมายของความยุติธรรมคืออะไร คำตอบคือทำให้สังคมสงบสุข ความยุติธรรมไม่ได้หมายถึง ศาล อัยการ ตำรวจ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงกลไกหนึ่งเท่านั้น” แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์ทุกคนในสังคมให้ความยุติธรรมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งกระบวนการของกฎหมายเลยก็ได้ ได้มีการถ่ายทอด “ความยุติธรรมของพ่อ” ในกิจกรรมโครงการประกวดหนังสั้นความยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เพื่อสื่อความหมายที่แท้จริงและความสำคัญของความยุติธรรมโดยไม่ต้องพึ่งกระบวนการทางศาล ถ่ายทอดเป็นหนังสั้น ซึ่งขอยกตัวอย่างสองเรื่องที่ได้รับรางวัล คือ
            หนังสั้นเรื่อง "ข้อความในกระดาษ" ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ถ่ายทอดเรื่องราวของ 2 พ่อลูก ซึ่งพ่อออกไปทำงานโดยทุกวันจะเขียนข้อความในกระดาษบอกลูกว่า ซื้อข้าวมาให้ วางเงินไว้บนโต๊ะ บอกให้ลูกตั้งใจเรียน แต่ลูกสาวกลับหนีเรียนไปเที่ยวสวนสนุกกับเพื่อนชาย บังเอิญว่าพ่อซึ่งถูกออกจากงานประจำไปรับจ้างสวมชุดแมสคอตในสวนสนุกนั้นพอดี เห็นลูกสาวของตัวเองไม่เรียนหนังสือ หนีเที่ยว ก็เสียใจ ตกเย็นกลับบ้านพ่อก็ยังทำหน้าที่พ่อ รอลูกสาว เตรียมอาหารและเงินค่าขนมไว้ให้ โดยลูกก็โกหกว่าไปเรียนหนังสือมา แต่แล้วลูกก็ได้รู้ว่าพ่อรู้ความจริงแล้วว่าตัวเองโกหก เมื่อได้อ่านข้อความในกระดาษของพ่อที่ว่า "พ่ออาจทำหน้าที่พ่อได้ไม่ดี แต่หน้าที่ของลูกคือตั้งใจเรียน โตขึ้นจะได้ไม่ลำบาก..." และเห็นชุดแมสคอตที่พ่อวางผึ่งไว้ ...
            วัตถุประสงค์ที่สื่อในหนังสั้นเรื่องนี้ คือ การที่ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างรับผิดชอบ อย่างสุจริต นั่นก็เป็นการให้ความยุติธรรมต่อคนอื่น ต่อสังคมแล้ว
        หนังสั้นอีกเรื่องคือ "สองพี่น้อง" เป็นเรื่องได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นเรื่องราวของพี่น้องที่มักทะเลาะแย่งของกันเป็นประจำ ทั้งแย่งกันดื่มน้ำแก้วโต แย่งกันเล่นลูกบอลพลาสติก จนพ่อต้องยุติความขัดแย้งด้วยการผ่าแบ่งลูกบอลเป็น 2 ส่วนเท่ากัน พี่กับน้องได้ลูกบอลคนละครึ่งลูก แต่ท้ายสุดลูกบอลเพียงคนละครึ่งลูกก็เล่นไม่ได้ พี่น้องจึงสมานฉันท์นำบอลมาประกบกันจึงเล่นได้ เรื่องนี้ ผอ.วิทยา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สะท้อนว่าการเอาชนะกันต่างฝ่ายจะไม่ได้อะไร เรามองแต่มุมความยุติธรรมของตัวเองไม่ได้ เช่น ตอนที่พี่น้องแย่งกันดื่มน้ำอัดลมที่แบ่งเทใส่แก้ว 2 ใบ พี่น้องต่างก็อยากได้แก้วใหญ่ ตอนพี่แบ่งน้ำ น้องไม่พอใจ หาว่าพี่ได้มากกว่า พ่อจึงตัดสินอย่างมีเทคนิคโดยให้น้องเป็นคนแบ่งน้ำใส่แก้ว แล้วถามว่าเห็นว่าเท่ากันหรือยัง พอน้องบอกว่าเท่ากันแล้ว ทั้งที่ดูอย่างไรก็ไม่เท่ากัน พ่อให้พี่เป็นคนเลือกแก้วก่อน ปรากฏว่าพี่เลือกใบที่มีน้ำอัดลมมากกว่า น้องก็ไม่พอใจแต่พูดไม่ออกเพราะตัวเองแบ่งน้ำเอง ตรงนี้สะท้อนว่าคนเราชอบมองความยุติธรรมในมุมของตนเอง เหมือนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มันต้องมีคนได้คนเสียตลอดเวลา
หมายเหตุ : หนังสั้น “ความยุติธรรมของพ่อ” เป็นข้อมูลจาก updated: 23 ก.ค. 2556; ประชาชาติธุรกิจออนไลน์; http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1374562796

 

ความยุติธรรมโดยวิธี “รวมตัวกัน” และ “ร่วมมือกัน”

            การรวมตัวกันของ ASEAN ควรเป็นการอยู่ร่วมกันของ ASEAN ทุกชาติสมาชิกยังคงมีสถานะอยู่เหมือนเดิม โดยร่วมมือกันเพื่อให้เกิดพลังในหมู่ชาติสมาชิก ต่างชาติต่างภาษา ต่างดินแดน ต่างวัฒนธรรม การหวังว่าให้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวคงเป็นไปได้ยาก แต่รวมตัวกันเพื่อร่วมมือแบ่งปันกันให้เกิดผลประโยชน์ร่วมทุกฝ่ายน่าจะเกิดความรู้สึกที่ดีกว่าการบังคับให้ความยุติธรรมตามข้อตกลงแบบกฎหมาย

การที่มหาอำนาจตะวันตกปลุกระดมให้ประชาชนในประเทศโลกที่สามให้ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้เปิดประเทศให้เกิดการค้าเสรี กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้มิใช่การสร้างความยุติธรรมให้ชาวโลก แต่เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของชาติตะวันตกฝ่ายเดียว เป็นเครื่องมือรุกรานทางเศรษฐกิจ สร้างความขัดแย้งแก่งแย่งกัน วุ่นวายไปทั่วโลก มนุษย์บนโลกใบนี้แตกต่างกันตามเผ่าพันธุ์ ต่างวัฒนธรรม ต่างถิ่นที่อยู่อาศัย การเรียกร้องให้ทุกประเทศมีความเท่าเทียมกันจึงเป็นการผิดหลักเกณฑ์ของธรรมชาติอยู่แล้ว แต่หากจะมีการปลุกระดมให้ประชากรโลกเป็นคนดี มีความกตัญญูรู้คุณ (ต่อโลก ต่อประเทศ ต่อพ่อแม่) มีความรัก มีความภักดี มีสัจจะ มีธรรมะ เหล่านี้คือ “ความยุติธรรมตามธรรมชาติ” ที่ควรให้เกิดขึ้นแก่ทุกชาติ ทุกภาษา เพื่อให้เกิดสันติสุขกันในโลกได้

ทุกวันนี้สังคมอันเป็นสถานที่ที่พวกเรารวมตัวกันอยู่และร่วมมือกันทำงานกันอยู่นี้มีการเรียกร้องความยุติธรรมกันมากเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะการเรียกร้องความยุติธรรมระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ผู้บริโภคมักอ้างว่าถูกผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบ แต่หารู้ไม่ว่าผู้ประกอบการไม่มีทางเอาเปรียบผู้บริโภคได้เลยหากผู้บริโภครู้จัก “หน้าที่” ของตนเอง ผู้บริโภคต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดความเป็นความตายของผู้ประกอบการ ถ้าผู้บริโภครู้จักฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ หรือรู้จักลดการบริโภคลงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ประกอบการจะเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้บริโภคเป็นผู้กระทำโดยมีทางเลือกมากมายที่จะให้เกิดความพึงพอใจและดีที่สุด หรือยุติธรรมที่สุดสำหรับเรา โดยสรุปแล้วกล่าวได้ว่า นิติศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งของความยุติธรรม หากเราจะให้เข้าถึงความยุติธรรมมากยิ่งขึ้นคงต้องมีความรู้ในเรื่องของรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มานุษยวิทยา และอื่น ๆ บ้าง การเห็นองค์รวมของสังคมจะทำให้เรายอมรับความยุติธรรมตามธรรมชาติและความยุติธรรมตามกฎหมายได้เข้าใจมากขึ้น และยอมรับความยุติธรรมตามที่มันควรจะมีควรจะเป็นที่มีอยู่ในโลกมนุษย์ของเรานี้ได้ดียิ่งขึ้น สมดังความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ว่า...

            “...กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามคนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริตควรต้องถือว่าทุจริต...”