#ภญ.ศรีนวล กรกชกร
อย. รุกแก้ไขปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตกมาตรฐาน
อย. เข้ม น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญต้องปลอดภัย หลังพบปัญหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่ผ่านมาตรฐานตามกฎหมาย รุกจัดอบรมผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญให้ผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อมวางแนวทางออกประกาศฯ กำหนดคุณภาพของน้ำดื่มที่ผลิตจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมาย คาดว่าในปีงบประมาณ 2557 จะมีการบังคับใช้ตามกฎหมาย
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญกำลังได้รับความนิยมและมีผู้ประกอบการหันมาดำเนินธุรกิจดังกล่าวจำนวนมาก และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสำหรับบริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ห่วงใยผู้บริโภค เกรงจะได้รับน้ำดื่มที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เพราะมีข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ ว่า พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีคราบสกปรก หรือตั้งอยู่ในแหล่งที่ไม่สะอาด น้ำดื่มอาจมีการปนเปื้อนได้ ซึ่งที่จริงแล้วน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น แต่ไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพในการกำกับดูแลอย่างชัดเจนจึงมีปัญหาเกิดขึ้น โดยเฉพาะการดูแลบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มให้มีคุณภาพและไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน ประกอบกับทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการสำรวจสถานการณ์ความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 - กันยายน พ.ศ. 2555 โดยเก็บตัวอย่างน้ำตรวจวิเคราะห์ จำนวน 2,025 ตัวอย่าง พบว่าไม่ผ่านมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด 790 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐานทางด้านเคมี 587 ตัวอย่าง รายการที่ไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุดคือ ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ร้อยละ 18.5 รองลงมา ค่าความกระด้าง (Hardness) ร้อยละ 8.4 และไม่ผ่านมาตรฐานด้านจุลินทรีย์ 319 ตัวอย่าง ซึ่งตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์มร้อยละ 12.8 รองลงมา E. coli ร้อยละ 2.5 แสดงให้เห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญคือ ขาดการดูแลบำรุงรักษาอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาวได้
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า อย. มุ่งมั่นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า และเพื่อแก้ไขปัญหาจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังกล่าว และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำบริโภคจากตู้หยอดเหรียญให้ได้คุณภาพขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิต/จำหน่าย และเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีความรู้และความเข้าใจในการดูแลบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้อย่างถูกต้อง สามารถผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย และสามารถให้คำปรึกษาในการกำกับดูแลกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้
ในส่วนของ อย. ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพน้ำดื่มที่ได้จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จึงได้มีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องน้ำบริโภคจากตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติ เพื่อกำหนดคุณภาพของน้ำบริโภคที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติโดยตรง โดยอ้างอิงมาตรฐานตามประกาศฯ ฉบับที่ 61 มาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความปลอดภัย ทั้งนี้คาดว่า ร่างประกาศฯ ดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2557 และ อย. มีแผนในการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ พร้อมทั้งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศต่อไป ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของ อย.