ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ​ผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว

ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ 
ผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย การตรวจพบและการรักษาจึงมีความจำเป็นและสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว “ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว ประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย ได้ผลดี” โดยมี .คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานและผู้ดำเนินงาน ร่วมด้วย ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช, อาจารย์แพทย์สาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ .นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาฯ รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ และ ผศ.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์, อาจารย์แพทย์สาขารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา รศ.พญ.วุฒิศิริ วีรสาร หัวหน้าสาขาฯ และ .นพ.กุลธร เทพมงคล, ศูนย์ถันยรักษ์ นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ ประธานศูนย์ฯ และ    ศ.พญ.คุณหญิงสำอางค์ คุรุรัตน์พันธ์ รองประธานศูนย์ฯ รวมทั้ง รศ.เยาวมาลย์ เมธาภิรักษ์ ผู้ได้รับการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ โดยมี รศ.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร รักษาการรองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นพิธีกร 

          ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ อาจารย์แพทย์หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวถึงอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมว่า เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดสำหรับผู้หญิงทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากสถิติของสถานวิทยามะเร็งศิริราชพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยเรื่องมะเร็งเต้านมมากกว่า 1,000 ราย โดยมาตรฐานการรักษาจะเป็นแบบสหสาขาวิชา คือมีทั้งการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และฮอร์โมนบำบัดผสมผสานกัน อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยการผ่าตัดยังใช้เป็นการรักษาหลักอยู่ ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ทำการรักษา

รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ และผู้ริเริ่มการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ในศิริราช กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น หลักการคือ ผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก โดยเก็บผิวหนังบริเวณเต้านม หัวนม และลานนมไว้ นับเป็นเทคโนโลยีในการผ่าตัดที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยยังคงความเป็นหญิงไม่สูญเสียเต้านม และนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า การผ่าตัดรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบเก็บเต้านมอย่างเดียวจะทำให้อัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านมสูงขึ้น จำเป็นที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องได้รับการฉายรังสีรักษาภายนอกหลังการผ่าตัดแล้วเป็นจำนวน 25-30 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5-6 สัปดาห์ติดต่อกัน สร้างความลำบากให้ผู้ป่วย และยังทำให้การบริการทางรังสีรักษาแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงร่วมกันเพื่อหาแนวทางการรักษามะเร็งเต้านมที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ไปพร้อมกัน ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้เป็นการผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งเต้านมพร้อมฉายรังสีรักษาครั้งเดียวในห้องผ่าตัด

ผศ.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ และผู้ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ กล่าวว่า การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่นี้เริ่มจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เรียกว่า ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล คือ การตัดต่อมน้ำเหลืองบางส่วนแทนการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดในอดีต จากนั้นผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออก ตามด้วยการฉายรังสีรักษาครั้งเดียวในห้องผ่าตัด โดยเริ่มใช้ในโรงพยาบาลศิริราชเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556) ให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 50 ราย มีการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะเวลาเฉลี่ยในการติดตามเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าได้ผลดีเยี่ยม และมีอัตราการเกิดโรคซ้ำเพียง 2% (1 ราย) ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งวิธีนี้ยังทำให้ผู้ป่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงสามารถช่วยลดงานบริการผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการฉายรังสีเป็นจำนวนถึง 755 ครั้ง

ในการรักษาด้วยวิธีใหม่นี้ถือเป็นแนวทางที่สามารถช่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวนหนึ่งได้ ซึ่งทางสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม และสาขารังสีรักษาคำนึงถึงอย่างมากในเรื่องการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของการรักษา ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2555 เราได้จัดประชุมวิชาการเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการฉายรังสีรักษาในห้องผ่าตัด คือ Professor R Orrecchia และ Professor Y Petit จาก European Institute of Oncology ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้วยวิธีนี้ และมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษานี้มาแล้วมากกว่า 2,000 ราย มาทำการประเมินและชี้แนะให้กับคณะทำงาน ทำให้มีการปรับปรุงคุณภาพ เทคนิคในการผ่าตัด และการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ดีแล้ว ทีมแพทย์ยังได้พัฒนาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกรายที่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์ผู้รักษาจะต้องเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยรายใดสมควรที่จะได้รับการฉายรังสีในห้องผ่าตัด รายใดไม่สามารถทำได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เหมาะสม จะต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น ขนาดก้อนน้อยกว่า 2 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง และมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง 

.นพ.กุลธร เทพมงคล อาจารย์แพทย์ประจำสาขารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา และผู้ฉายรังสีรักษา กล่าวว่า ข้อดีที่สำคัญที่สุดของการฉายรังสีรักษาในห้องผ่าตัดคือ การลดระยะเวลาในการฉายรังสีภายนอกได้ถึง 25-30 ครั้ง นอกจากนี้การฉายรังสีเข้าไปในบริเวณที่เป็นตำแหน่งของก้อนมะเร็งทันทีภายหลังการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกจะทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสีรักษาได้แม่นยำมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสการหายจากโรคและลดปริมาณรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติ รวมถึงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาลงด้วย และภาวะแทรกซ้อนต่อผิวหนังภายนอกก็ลดลงมากเช่นกันเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีภายนอกตามปกติ จากการศึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชที่ได้รับการรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีใหม่นี้ พบว่าภาวะความสวยงามของเต้านมภายหลังการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีมากถึงดีเลิศ นอกจากนี้ยังใช้แบบสอบถามที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็งเต้านม พบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการรักษา และรู้สึกพึงพอใจที่ไม่มีการสูญเสียเต้านมภายหลังการผ่าตัด  

นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ ประธานศูนย์ถันยรักษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า แม้ว่าโรคมะเร็งเต้านมจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่การป้องกันโรคมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมซึ่งสามารถทำได้ด้วยการตรวจเต้านมตนเอง เป็นสิ่งแรกที่จะช่วยให้ผู้หญิงทุกคนป้องกันตนเองจากมะเร็งเต้านมได้ การตรวจนี้เพื่อให้สตรีรู้สึกถึงธรรมชาติเต้านมของตนเอง และหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก็จะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตนเอง โดยควรเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และตรวจเป็นประจำสม่ำเสมอทุกเดือนตลอดชีวิต ซึ่งขั้นตอนการตรวจประกอบด้วย การดูด้วยตาและการคลำด้วยมือ นอกจากนี้ในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านมที่เรียกว่า แมมโมแกรมร่วมกับการตรวจอัลตราซาวนด์ สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เต้านมไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดควรรีบไปพบแพทย์ทันที