SOPITT-สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ จัดประชุม NCARO เสริมองค์ความรู้เรื่องยาต้านจุลชีพ ลดปัญหาเชื้อดื้อยาและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย

#ภก.ผศ.ดร.ปรีชา มนทกานติกุล

SOPITT-สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ จัดประชุม NCARO เสริมองค์ความรู้เรื่องยาต้านจุลชีพ ลดปัญหาเชื้อดื้อยาและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย

สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เป็นองค์กรวิชาชีพที่มุ่งให้การสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของเภสัชกรโรงพยาบาลในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม ภายใต้การปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของเภสัชกรโรงพยาบาล ด้วยการจัดอบรมวิชาการ การผลิตตำราวิชาการ และการจัดการองค์ความรู้ในรูปแบบของการจัดตั้งกลุ่มชุมชนเภสัชกรนักปฏิบัติ (Community of Practice, CoP) ที่มีความชำนาญเฉพาะทางสาขาต่าง ๆ เช่น กลุ่ม SOPITT (Society of Pharmacists in Infectious Disease Medicines and Therapeutic; Thailand) เป็นต้น

เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเชื้อก่อโรคในโรงพยาบาลที่ดื้อยาต้านจุลชีพหลายชนิดอย่างรุนแรง ได้แก่ Multidrug-resistant Pseudomonas aeruginosa (MDR-PA), Multidrug-resistant Acinetobacter baumannii (MDR-AB), Extended-spectrum beta-lactamase-producing Escherichia coli (ESBL-EC), Extended-spectrum beta-lactamase-producing Klebsiella pneumoniae (ESBL-KP) และ heterogeneous Vancomycin-intermediate resistant Staphylococcus aureus (hVISA) เป็นเหตุให้ยาต้านจุลชีพที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการรักษาลดลง และทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างไม่เหมาะสมทั้งชนิดยา ขนาดยา ความถี่ของการให้ยา และระยะเวลาการรักษาด้วยยา ยังเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลให้เชื้อพัฒนาการดื้อยาเพิ่มขึ้นด้วย

กลุ่ม SOPITT ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดอบรมเภสัชกรโรงพยาบาลให้มีองค์ความรู้เรื่องยาต้านจุลชีพอย่างลึกซึ้ง และนำความรู้ไปใช้ในการชะลอหรือแม้แต่คืนความไวของเชื้อต่อยา เพื่อช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยา และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย จึงจัดให้มีงานประชุม The First National Pharmacy Conference on Antimicrobial Agents and Resistant Organisms (NCARO): Drug Utilization Evaluation, Focusing on Nosocomial Infections ขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมนารายณ์ ถนนสีลม กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อที่รักษาด้วยการใช้ยาต้านจุลชีพ และมีบทบาทช่วยให้การรักษาและการป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภก.ผศ.ดร.ปรีชา มนทกานติกุล ประธานกลุ่ม SOPITT กล่าวถึงหัวข้อหลักในการประชุมว่า งานประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นให้เภสัชกรโรงพยาบาลมีบทบาทหลักในการประเมินความเหมาะสมในการใช้ยา (drug use evaluation) โดยเฉพาะยาต้านจุลชีพ เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตของผู้ป่วยและมูลค่าของค่าใช้จ่ายของประเทศ

รูปแบบการประชุมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นการนำเสนอภาพรวมของปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทย และผลกระทบของเชื้อดื้อยาต่อชีวิตของผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศ ส่วนที่ 2 เป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญ ทั้งความรู้ทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาที่ก่อโรคในโรงพยาบาล รวมถึงกลไกการดื้อยา เช่น MDR-PA, MDR-AB, ESBL-EC, ESBL-KP และ hVISA ความรู้ทางเภสัชบำบัดของยาต้านจุลชีพที่ใช้บ่อยในการรักษาโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มีปัญหาเชื้อดื้อยา โดยมุ่งเน้นไปยังข้อมูลที่จำเป็นการตัดสินใจใช้ยา หลุมพราง (Pitfalls) ของการใช้ยาต้านจุลชีพเหล่านั้น รวมถึงข้อมูลของยาแต่ละชนิดในการทำ drug use evaluation เช่น ยากลุ่ม carbapenems, colistin, fosfomycin, cefoperazone/sulbactam และ tigecycline ส่วนที่ 3 เป็นแนวทางและตัวอย่างการดำเนินงานของเภสัชกรโรงพยาบาลในการทำ drug use evaluation, antibiotic stewardship program, Therapeutic drug monitoring (TDM), antibiotic combination และการให้ยาต้านจุลชีพโดยเพิ่มระยะเวลาในการหยดยา (prolonged infusion) นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายกรณีศึกษาผู้ป่วยเพื่อเรียนรู้ความเหมาะสมของการได้รับยาต้านจุลชีพแบบ empirical therapy และการทำ de-escalation ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม

ในส่วนของไฮไลท์ของการจัดงานประชุม ภก.ผศ.ดร.ปรีชา กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญทางคลินิกของยาต้านจุลชีพที่ใช้บ่อยในการรักษาโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ตาราง drug use evaluation ของยาต้านจุลชีพแต่ละชนิด ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำ drug use evaluation ในโรงพยาบาลของตน รวมทั้งได้ฝึกประเมินความเหมาะสมของยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลโดยใช้กรณีศึกษาผู้ป่วย เพื่อเรียนรู้ การเริ่มใช้ยา ติดตามการใช้ยา และยุติการใช้ยา ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของ antibiotic authorization และ prospective audit and feedback อันเป็นหลักการสำคัญของ antibiotic stewardship program นอกจากนี้ในงานประชุมจะเปิดรับสมาชิกกลุ่มชุมชนเภสัชกรนักปฏิบัติสาขาโรคติดเชื้อ (SOPITT) เป็นครั้งแรก เพื่อให้สมาชิกสามารถติดตามข่าวสารและองค์ความรู้ต่าง ๆ ของกลุ่มได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เภสัชกรโรงพยาบาลทุกสังกัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการประชุมจะสามารถนำความรู้ไปใช้ในการประเมินความเหมาะสมของการใช้ยาต้านจุลชีพ (drug use evaluation) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแปลผลความไวของเชื้อก่อโรคในโรงพยาบาลที่พบบ่อย เพื่อใช้ประโยชน์ในการเลือกยาต้านจุลชีพได้อย่างเหมาะสม และได้ตระหนักถึงบทบาทของตนในการทำ drug use evaluation อันจะนำไปสู่การทำ antibiotic stewardship program ต่อไป

สำหรับค่าลงทะเบียนมีหลายอัตรา ดังนี้ 3,000 บาท สำหรับสมาชิกสมาคมฯ, 4,500 บาท สำหรับเภสัชกรผู้สนใจ และ 4,000 บาท สำหรับเภสัชกรผู้สนใจที่สมัครสมาชิกสมาคมฯ ปิดรับลงทะเบียนออนไลน์วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (www.thaihp.org) และรับชำระเงินผ่านระบบ Bill Payment ธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารไทยพาณิชย์ ภายในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดยเภสัชกรโรงพยาบาลที่เข้าร่วมงานประชุมจะได้รับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์จำนวน 15.75 หน่วยกิต

"ขอเชิญชวนเภสัชกรโรงพยาบาลทั้งที่กำลังดำเนินงาน drug use evaluation (DUE), เภสัชกรโรงพยาบาลที่สนใจในปัญหาเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลและการใช้ยาต้านจุลชีพที่ไม่เหมาะสม เภสัชกรโรงพยาบาลที่ให้การดูแลผู้ป่วยอายุรศาสตร์ และเภสัชกรโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่สนใจเพิ่มพูน ทบทวนความรู้และทักษะเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม มาเข้าร่วมประชุมวิชาการในครั้งนี้ เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลมีความรู้และทักษะทางการใช้ยาต้านจุลชีพในโรคติดเชื้อ (ID pharmacist) อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประเทศชาติต่อไป" ภก.ผศ.ดร.ปรีชา กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.thaihp.org หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรศัพท์ 0-2249-9333 หรือทาง e-mail : hp@thaihp.org