บรรยายใต้ภาพ 1. รศ.ดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์
2. ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี
3. อ.ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช
“กู้ชาติด้วยสมุนไพรไทย” สมุนไพรไทยสู่ตลาดโลกได้จริงหรือ ?
ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ซึ่งอุดมไปด้วยพรรณพืชที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชสมุนไพร รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่การเชื่อมโยงกระบวนการและเทคโนโลยีจากการวิจัยสู่ภาคการผลิตยังคงมีส่วนน้อย ทั้งการพัฒนาทางวิชาการโดยปราศจากมุมมองใหม่ ๆ ทางการตลาด เศรษฐศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ บนรากฐานของจริยธรรม และทัศนคติที่อิงภูมิปัญญา อาจทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ดีของประเทศไทยไม่สามารถเข้าสู่ตลาดการค้าอาเซียน หรือตลาดโลกได้
ด้วยเหตุนี้ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยสู่ตลาดอาเซียน” เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยาสมุนไพรได้พัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้ โดยการสัมมนาครั้งแรกจัดในหัวข้อ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย: ก้าวย่างที่มั่นใจสู่ตลาดอาเซียน” เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นที่สำคัญที่จะเสริมความแข็งแรงทางวิชาการด้วยจริยธรรม ศิลปะสร้างสรรค์ กฎหมาย การออกแบบผลิตภัณฑ์ และเส้นทางการตลาดยุค 2013
รศ.ดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันมีความต้องการในการนำพืชสมุนไพรไทยมาใช้รักษาโรคมากขึ้น เนื่องจากเป็นการแพทย์ทางเลือกที่เป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยมาแต่โบราณ ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการใช้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลทั่วประเทศ และเห็นผลสัมฤทธิ์ของพืชสมุนไพร อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนซึ่งอุดมไปด้วยพรรณพืชที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชสมุนไพร รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่การเชื่อมโยงกระบวนการและเทคโนโลยีจากการวิจัยสู่ภาคการผลิตยังคงมีส่วนน้อย ทั้งการพัฒนาทางวิชาการโดยปราศจากมุมมองใหม่ ๆ ทางการตลาด เศรษฐศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ บนรากฐานของจริยธรรม และทัศนคติที่อิงภูมิปัญญา อาจทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ดีของประเทศไทยไม่สามารถเข้าสู่ตลาดการค้าอาเซียน หรือตลาดโลกได้ ดังนั้น การยกระดับการผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนาบุคลากรสำหรับงานการผลิตยาจากสมุนไพรให้มีคุณภาพ และพัฒนางานต้นแบบการผลิตยาสมุนไพรจึงเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องให้การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยาสมุนไพรได้พัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า การพัฒนาสมุนไพรครบวงจรหรือทั้งระบบจะเป็นจุดคานงัดการพัฒนาระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจของไทยไปพร้อมกัน ขณะนี้ระบบบริการสุขภาพทั่วโลกประสบสภาวะวิกฤต เพราะราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริการไม่ทั่วถึง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้งบประมาณถึง 17% ของ GDP ไปในเรื่องสุขภาพซึ่งสูงที่สุดในโลก แต่กลับไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ประชาชนอเมริกันประมาณ 40 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ ประเทศเป็นหนี้สินจนบางเมือง เช่น ดีทรอยด์ต้องประกาศล้มละลาย ขณะที่ปัญหาเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องผู้สูงอายุจะตัดรายจ่ายก็ไม่ได้ จะเพิ่มรายได้ก็ไม่ได้ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ปัญหาเรื่องการแพทย์แผนปัจจุบันราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เกินฐานะของประเทศที่จะแบกรับได้เป็นวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้มาตรการที่จะแก้ไขเรื่องนี้ที่องค์การอนามัยโลกและองค์กรสุขภาพอื่น ๆ เสนอแนะก็คือ พัฒนาระบบดูแลพื้นฐาน (Primary care) ให้เข้มแข็ง หรือเรียกอีกอย่างว่า ระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นระบบที่ฐานของประเทศ ในระบบนี้ที่ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมีความสำคัญมาก เพราะทดลองใช้ถ่ายทอดกันมานานอย่างกว้างขวาง ฐานทางวัฒนธรรมกว้างกว่าฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หาง่าย และราคาถูกกว่า สมุนไพรเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ ถ้าพัฒนาอย่างครบวงจรจะช่วยบรรเทาความกดดันต่อระบบบริการสุขภาพ ประหยัด เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
การส่งเสริมให้มีการใช้การแพทย์และสมุนไพรไทยอย่างกว้างขวางประกอบด้วย การสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ทำรายการยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์จริงให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาสามัญประจำบ้านให้ประชาชนมีใช้ประจำบ้าน ส่งเสริมให้มีการตั้งศูนย์การแพทย์แผนไทยทุกตำบล โดยไม่ใช่เป็นของทางราชการ แต่เป็นของชุมชน โดยให้บริการได้ในขั้นต้น 3 อย่างคือ นวดแผนไทย ประคบด้วยสมุนไพร และขายยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง มีคลินิกการแพทย์แผนไทยในทุกโรงพยาบาล เพื่อเป็นบริการทางเลือก หรือเชื่อมโยงกับการแพทย์แผนปัจจุบัน และส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยาสมุนไพรให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการส่งออก หากทำได้เช่นนี้จะแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล ทำให้บริการทั่วถึงมากขึ้น และราคาถูกลง
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องการการสนับสนุนทางวิชาการดังนี้ 1. รวบรวมความรู้และมีศูนย์ข้อมูลสมุนไพร 2. วิจัยผลการใช้สมุนไพรอย่างที่ชาวบ้านใช้ เนื่องจากสมุนไพรและยาสมุนไพรอยู่ในระบบวัฒนธรรม มีการใช้อย่างกว้างขวางมาช้านาน และกล่าวถึงสรรพคุณต่าง ๆ ซึ่งไม่ทราบว่าจริงแค่ไหนเพียงไร ควรมีการวิจัยผลการใช้ด้วยวิธีการวิจัยที่มีคุณภาพสูงในโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้เกิดความรู้จริง 3. วิจัยผลข้างเคียงหรือผลร้ายของยาสมุนไพร เพื่อการใช้อย่างถูกต้อง 4. วิจัยและพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานยาสมุนไพรให้เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้และต่อธุรกิจยาสมุนไพร 5. วิจัยการตลาดทั้งในและต่างประเทศ 6. วิจัยเพื่อพัฒนายาแผนปัจจุบันจากสารออกฤทธิ์ ยาชิงเฮาสูของจีนเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่เป็นสมุนไพรแก้ไข้ที่คนจีนใช้มาเป็นพัน ๆ ปี เมื่อมาวิจัยด้วยวิทยาศาสตร์พบสารต่อต้านเชื้อมาลาเรียที่ดีที่สุดในปัจจุบัน สมุนไพรเฉพาะถิ่นต่าง ๆ จึงอาจมีสารซึ่งเป็นยาอย่างดีรอการค้นพบอยู่ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องลงทุนมาก 7. วิจัยระบบสมุนไพรให้เข้าใจทั้งระบบจะได้สามารถพัฒนาระบบสมุนไพรให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“หากทำได้จะสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างมโหฬาร ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูก ผู้ผลิตยา และธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรจะเป็นพลังกระตุ้นให้องค์ประกอบทั้งหมดของระบบสมุนไพรเข้ามาเชื่อมโยงกันครบวงจร เกิดประโยชน์ต่อทั้งระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจทั้งหมด” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าว
ด้าน อ.ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช ผู้ช่วยคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงทิศทางของสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลกว่า จากผลงานวิจัยของ รศ.ดร.วรรณวิภา ปสันธนาทร และคณะ เรื่องผลกระทบและการประมวลผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเปิดเสรีทางการค้า FTA ในภาคบริการธุรกิจสุขภาพ ระบุว่าในปี พ.ศ. 2551 มูลค่าการค้าสมุนไพรในตลาดโลกมีมูลค่าสูงมาก คือประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท แต่การบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรในประเทศไทยมีเพียง 48,000 ล้านบาท ประเทศไทยแม้จะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแต่ก็เสียดุลการค้าต่างประเทศมาโดยตลอด โดยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากออสเตรเลีย จีน และอินเดีย
มูลค่าการตลาดผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ด้านยาสมุนไพร จากข้อมูลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มสมุนไพร) รายงานว่า ปี พ.ศ. 2554 มูลค่าการตลาดยาจากสมุนไพรในประเทศประมาณการ 8,000 ล้านบาท ไม่รวมมูลค่ายาจากสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ส่วนการนำเข้าและส่งออกยาสมุนไพรมีมูลค่าไม่แตกต่างกันมากนัก ประมาณ 200-300 ล้านบาท ด้านเครื่องสำอาง ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย รายงานว่า ปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคิดเป็นมูลค่า 140,000 ล้านบาท ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศร้อยละ 90 ของการผลิต โดยเป็นวัตถุดิบสารสกัดสมุนไพรมูลค่า 20,000-30,000 ล้านบาท จากทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และเป็นสมุนไพรที่สามารถปลูกและแปรรูปได้ในประเทศไทย ด้านอาหารเสริม จากข้อมูลสมาพันธ์สุขภาพและความงาม รายงานว่า ปี พ.ศ. 2554 ประมาณมูลค่าอาหารเสริมสุขภาพของตลาดในประเทศ 80,000 ล้านบาท โดยต้องนำเข้าวัตถุดิบสารสกัดจากสมุนไพรจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 20,000 ล้านบาท
ข้อมูลจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี พ.ศ. 2554 ประชาชนใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร้อยละ 9.5 มูลค่าของการใช้ยาสมุนไพรไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ รวมแล้วประมาณร้อยละ 1.5 โดยที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีการใช้ยาสมุนไพรมากที่สุด ด้านการจัดบริการ สัดส่วนการใช้บริการเพื่อการรักษา/ฟื้นฟู ร้อยละ 81.1 สิทธิผู้มารับบริการ จ่ายเอง ร้อยละ 39.1 สปสช. ร้อยละ 34.5 กรมบัญชีกลาง ร้อยละ 23.7 ประกันสังคม ร้อยละ 2.7 ลำดับยาแผนไทยที่ใช้บ่อย ปี พ.ศ. 2552 จำนวน 270 ล้านบาท ได้แก่ ครีมไพล ลูกประคบ ขมิ้นชัน ประสะมะแว้ง ฟ้าทะลายโจร
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยถูกนำมาใช้จำนวนมาก โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2555 มีมูลค่าตลาดสูงกว่า 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ เครื่องสำอางมูลค่า 18,000 ล้านบาท อาหารเสริมมูลค่า 13,000 ล้านบาท และเครื่องดื่มมูลค่า 11,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการนวด อบ ประคบ
โดยประเทศไทยได้มีการวางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรมากมาย อาทิ แผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2555-2559) ของกรมพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพดีวิถีไท ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ได้วางเป้าหมายการพัฒนาการใช้บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในสถานบริการ คือ 1. ประชาชนได้รับบริการการแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10, 20, 25, 30 2. ยาสมุนไพรเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 75, 80, 90, 100 รายการ 3. การบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในนักการแพทย์แผนไทยประจำ รายการยาสมุนไพรมากกว่า 20 รายการ นวด อบ ประคบ ทับหม้อเกลือ จำนวน 200, 400, 600, 800 แห่ง 4. รพ.สต. มีบริการการแพทย์แผนไทยพื้นฐาน มีการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรมากกว่า 5 รายการ ร้อยละ 50, 60, 80, 100
นโยบายกระทรวงสาธารณสุขของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ภายในทศวรรษต่อไป คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน สนับสนุนนโยบายการเสริมสร้างรายได้สุขภาพของประเทศทั้งด้านยาสมุนไพรไทย อาหาร สินค้าพื้นเมือง รวมถึงการเป็นศูนย์กลางสุขภาพ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อระบบบริการภาครัฐ โดยมีเป้าหมายตัวชี้วัดระดับกระทรวงคือ ประชาชนใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกไม่น้อยกว่าร้อยละ 14
นโยบายเร่งด่วนของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 1. การผลักดันยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติให้ได้ร้อยละ 10 เทียบกับรายการกับยาแผนปัจจุบัน 2. การสร้างมูลค่าสมุนไพรเชิงพาณิชย์ (Product Champions) 5 รายการ 3. การพัฒนาสถานบริการสู่มาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน 4. แผนพัฒนากำลังคน/แผนการจัดระบบบริการด้านการแพทย์แผนไทย และแผนพัฒนาสถานฝึกปฏิบัติงานทางการแพทย์แผนไทย 5. โครงการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรบัญชียาหลักแห่งชาติในสถานบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
แม้จะมีการวางนโยบายอยู่หลายอย่าง แต่การปฏิบัติยังคงไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรมมากนัก ทั้งที่จากนโยบายที่วางเอาไว้ถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการพัฒนาสมุนไพรไทยให้ก้าวไกล นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาสมุนไพรไทยมีหลายด้าน อาทิ สมุนไพรไทยขาดความน่าเชื่อถือ และข้อมูลยืนยันทางวิทยาศาสตร์ ขาดการพัฒนานวัตกรรมด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการตลาด เชิงวิเคราะห์ การวิจัย การผลิต และขาดการตลาดที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ เอกสารที่เกี่ยวข้องและผลการสรุปประเด็นจากการสนทนากลุ่ม จากผลงานวิจัยผลกระทบและการประมวลผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเปิดเสรีทางการค้า FTA ในภาคบริการธุรกิจสุขภาพของ รศ.ดร.วรรณวิภา ปสันธนาทร และคณะ ได้ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ ดังนี้ 1. กลยุทธ์ด้านการสร้างความน่าเชื่อถือ 2. กลยุทธ์ด้านห่วงโซ่อุปทาน 3. กลยุทธ์ด้านวิจัยและพัฒนา 4. กลยุทธ์ด้านทรัพยากรมนุษย์ 5. กลยุทธ์ด้านมาตรฐานและคุณภาพ โดยหากเรียงตามความสำคัญแล้วจะต้องพัฒนาฐานด้วยทรัพยากรมนุษย์ เมื่อมองถึงการเปิดประชาคมอาเซียน บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจะถูกดึงไป โดยอินโดนีเซียถือเป็นผู้นำด้านสมุนไพร หากเปิดประชาคมอาเซียน ประเทศไทยอาจจะเสียบุคลากรกลุ่มนี้ไป จึงต้องดำรงรักษาทรัพยากรมนุษย์ด้านนี้ไว้ให้ได้ แล้วจึงต่อยอดด้วยกลยุทธ์ด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งเกิดจากบุคลากรที่มีความมุ่งมั่น และต้องการพัฒนาประเทศไปด้วยกัน และกลยุทธ์ด้านมาตรฐานและคุณภาพ ด้านห่วงโซ่อุปทานและกลยุทธ์ด้านการสร้างความน่าเชื่อถือซึ่งส่งเสริมกัน โดยกลยุทธ์การสร้างความน่าเชื่อถือ 1. จะต้องลบภาพลักษณ์เก่า สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของสมุนไพรไทย 2. กำหนดให้สมุนไพรไทยเป็นวาระแห่งชาติ 3. สร้างแนวร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน และ 4. กลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเน้นลูกค้า
สมุนไพรไทยจะไปตลาดโลกได้นั้นจะต้องอาศัยกลยุทธ์ด้านการตลาดที่มุ่งเน้นลูกค้าคือ ต้องมีการวิจัยตลาดเพื่อค้นหาความต้องการของลูกค้า แล้วนำพฤติกรรมของผู้บริโภคมาค้นหาสินค้าและบริการที่ตรงตามความต้องการ เปลี่ยนจากการเพิ่มมูลค่า (Value Adding) เป็นการสร้างมูลค่า (Value Creating) เปลี่ยนจาก Product Orientation เป็น Customer Orientation เปลี่ยนจากการตลาด 1.0 เป็นการตลาด 3.0 และเปลี่ยนจาก Product Marketing เป็น Strategic Branding
การจะทำให้สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทยสู่ตลาดโลกได้นั้น จะต้องสร้างมูลค่าในเชิงผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในประเทศและภูมิภาค จะต้องเป็นผู้นำด้านการผลิต จำหน่าย และบริการสมุนไพรครบวงจร เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดด้านผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย และการสื่อสารกับผู้บริโภค ช่วยลดการขาดดุลการค้า ดึงรายได้เข้าประเทศ และสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายหากทำได้ “เราจะกู้ชาติด้วยสมุนไพร”