การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556)
เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์
“บทบาทเภสัชกรต่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 2”
สภาเภสัชกรรม ร่วมกับศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม จัดการประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ “บทบาทเภสัชกรต่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 2” ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ณ ห้องประชุม 702 ชั้น 7 อาคาร 80 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ หวังปรับบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อสังคมให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สภาเภสัชกรรม ร่วมกับศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศศภท.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) จัด การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ “บทบาทเภสัชกรต่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 2” มุ่งปรับบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อสังคมให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันบทบาทของเภสัชกรมีความเปลี่ยนแปลงและกว้างขวางมากขึ้น จากเดิมที่เน้นในเรื่องผลิตภัณฑ์ การปรุงยา และผลิตยาเป็นหลัก ต่อมาได้เพิ่มเติมในเรื่องการดูแลผู้ป่วยด้านยา การสร้างสมุนไพรเพื่อเป็นยา การคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านยา รวมถึงบทบาทเชิงธุรกิจในเรื่องอุตสาหกรรมและการตลาด และในวาระสำคัญครบรอบ 100 ปี วิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ การจัดการประชุมครั้งนี้จึงได้ชูบทบาทของเภสัชกรในด้านต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างชัดเจน
โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 3 วัน 3 หัวข้อ ได้แก่ “การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย : การวิจัยเภสัชศาสตร์เพื่อประชาชน” นำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ในด้านเภสัชภัณฑ์ ด้านผู้ป่วย และด้านเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร “การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย : เภสัชศาสตร์ศึกษาเพื่อประชาชน” นำเสนอสถานการณ์เภสัชศาสตร์ไทยในปัจจุบัน พร้อมข้อเสนอเพื่อการพัฒนาและการวิพากษ์ทิศทางและอนาคตของการศึกษาเภสัชศาสตร์ไทยในสามทศวรรษหน้า ทั้งในสาขาเภสัชอุตสาหการ สาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร สาขาบริบาลเภสัชกรรม และ “การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี” โดยมีสมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมเภสัชกรชุมชน สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล มูลนิธิผู้บริโภค สมาคมเภสัชกรอุตสาหกรรม เจ้าของร้านยา สมาคมเภสัชกรการตลาด สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ ที่จะมาร่วมทบทวนบทบาทของตน ร่วมแลกเปลี่ยนและพัฒนาบทบาทในสาขาต่าง ๆ อาทิ สาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาล สาขาเภสัชกรรมชุมชน สาขาเภสัชอุตสาหการ สาขาการคุ้มครองผู้บริโภค และสาขาบริหารเภสัชกิจเพื่อตอบสนองสังคมให้ได้รับประโยชน์จากวิชาชีพให้ได้มากที่สุด
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สภาเภสัชกรรมกำลังเร่งพัฒนาหลักสูตรทางด้านเภสัชศาสตร์ เนื่องจากหลักสูตรเดิมซึ่งเป็นหลักสูตร 5 ปีนั้นกว้างมาก ทั้งทางด้านผู้ป่วย ด้านอุตสาหกรรมการผลิต ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสมุนไพร ด้านการตลาด ซึ่งถ้าลงลึกในด้านความชำนาญเฉพาะนั้น ถือว่าน้อยมาก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีความพยายามในการปรับหลักสูตรทางด้านเภสัชศาสตร์มาเป็นหลักสูตร 6 ปี โดยเน้นหลักสูตรเฉพาะสาขามากขึ้น เช่น ด้านการบริบาลผู้ป่วย ด้านเภสัชอุตสาหการ ด้านการตลาด ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสมุนไพร เพิ่มเติม
“หลักสูตร 6 ปีที่แยกชัดเจนที่คณะเภสัชศาสตร์มีการเปิดสอนคือ สาขาบริบาลทางเภสัชกรรมที่เกี่ยวกับผู้ป่วย สาขาเภสัชอุตสาหการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยา การผลิต การควบคุมคุณภาพ ส่วนที่กำลังจะหารือเพิ่มเติม คือ หลักสูตรคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านยา และหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาสมุนไพร รวมถึงหลักสูตรเภสัชกรการตลาด ซึ่งไม่ได้เน้นในเชิงธุรกิจ แต่เน้นให้เภสัชกรใช้ข้อมูลทางด้านยาที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งก็เป็นอีกอันที่มีการพัฒนากันอยู่ และจะพยายามผลักดันอีก 2-3 สาขาให้มีความชัดเจนมากขึ้น”
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวอีกว่า งานประชุมครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความรู้ครอบคลุมทางด้านเภสัชศาสตร์แล้ว ยังเป็นการพัฒนาความสามารถเฉพาะเรื่องมากขึ้น ซึ่งภายในงานจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงวิธีการจัดการศึกษา การพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 800-1,000 คน
“คาดหวังกับงานประชุมครั้งนี้มาก เพราะต้องการให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นภาพทั้งหมดตั้งแต่วันแรกที่เน้นการวิจัยพัฒนาทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เภสัชกรสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้แลกเปลี่ยนในเรื่องหลักสูตรทางด้านเภสัชศาสตร์ที่สามารถตอบสนองต่อสังคมได้มากขึ้น โดยบทบาทของเภสัชกรในทุกสาขาจะต้องสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในด้านใดด้านหนึ่งให้ชัดเจน ต้องดูแลและสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ในการผลิตยาต้องผลิตยาที่ดี มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม ในการดูแลผู้ป่วยต้องเป็นหลักประกันว่าได้ยาจากเภสัชกรแล้วจะมีความรู้ความเข้าใจ และปลอดภัยจากปัญหาทางด้านยาที่รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น แม้ปัญหาทางด้านยาของผู้ป่วยอาจจะเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล แต่ถ้ามีการติดตามที่ดีก็สามารถจะลดทอนความรุนแรงได้ เพราะฉะนั้นปัญหาอะไรที่ป้องกันได้ เภสัชกรจะต้องป้องกันให้ ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งที่คาดหวังอยากให้เกิดขึ้น”
ท้ายนี้ ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวว่า “ในวาระ 100 ปี วิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรมได้จัดการประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) ขึ้น จึงอยากเชิญชวนสมาชิกเภสัชกรที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้พบปะกันบ่อยครั้งนัก เพราะด้วยบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรในการทำงานหลากหลายสาขา ทำให้มีภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นโอกาสนี้จึงไม่ควรพลาดที่จะมาร่วมกันพัฒนาบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมให้ก้าวหน้า และมีความเข้าใจในวิชาชีพเภสัชกรรมในภาพใหญ่มากขึ้น เพื่อจะรู้ว่าในอีก 100 ปีข้างหน้า บทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมจะก้าวเดินไปสู่จุดไหน” ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สภาเภสัชกรรม โทรศัพท์ 0-2590-1877, 0-2590- 2439 และหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 0-2218-8283 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.pharmacycouncil.org