การค้าเสรีกับการเข้าถึงยาของประชาชน

การค้าเสรีกับการเข้าถึงยาของประชาชน

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า “ยา” เป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญในชีวิตของมนุษย์ แม้ว่าจะมีการคิดค้นและวิจัยยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยาสามารถรักษาและบรรเทาเบาบางในหลาย ๆ โรคได้เป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีหลายสิ่งที่มากีดกันประชาชนไม่ให้สามารถเข้าถึงยาได้ก็คือ “ราคา” ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาของยาสูงคือ “สิทธิบัตรยา” ซึ่งเป็นกรอบจำกัดสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถมียาชื่อสามัญขึ้นมาทดแทนยาต้นแบบได้ ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ สำหรับประเทศไทย ปัญหาเริ่มจากการแก้กฎหมายสิทธิบัตรยาในปี พ.ศ. 2535 ทำให้ยาชื่อสามัญไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ และสิ่งที่หลาย ๆ ฝ่ายกังวลกันคือ การซ้ำเติมจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับทางสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศไทยตั้งธงไว้ว่าจะต้องเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปให้แล้วเสร็จก่อนปี พ.ศ. 2558 ยิ่งส่งผลให้เกิดความกังวลเกรงว่ารัฐบาลไทยอาจจะยินยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปมากจนเกินไปจนส่งผลกระทบกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการคุ้มครองยา

โดยข้อกังวลของภาคประชาสังคมในการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปคือ อาจจะถูกผู้เจรจาขยายความตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ด้วยการยอมรับการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ยาของสหภาพยุโรปเกินไปกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) คือจากข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวพันกับการค้า Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือ TRIPs ไปสู่ TRIPs Plus ส่งผลต่อการเข้าถึงยาของประชาชนไทย และการต้องจ่ายค่ายาในราคาแพงมหาศาลเกินกว่าความจำเป็นติดต่อกันอย่างยาวนาน จากท่าทีของสหภาพยุโรปที่ปรากฏมาตลอดว่า จะใช้การเจรจา FTA ที่ทำกับประเทศคู่ค้าขยายระยะเวลาและสิทธิการผูกขาดเชิงพาณิชย์ (ยา) ที่มากกว่า TRIPs พร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุการขยายการผูกขาดตลาดยาผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

การขยายระยะเวลาการผูกขาดเชิงพาณิชย์ (Extension on Market Exclusivity), การจำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่นภายใต้ความตกลง TRIPs (Increase Limitation on The Use of TRIPs Flexibilities), การขยายประเด็นที่สามารถจดสิทธิบัตร (Expanding on Patentability) และการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการผ่านแดน (IP Enforcement and Border Measures)

ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักรู้และเท่าทันการผูกขาดยา ทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเทศกาลหนังขายยาครั้งที่ 2 (6 ปีให้หลัง): Fire in the Blood เพลิงในเลือด และเวทีวิชาการ "การค้าเสรีกับการเข้าถึงยาของประชาชน" ขึ้น ณ ห้องประชุม 702 อาคาร 80 ปีเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ภญ.รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน เทศกาลหนังขายยา ครั้งที่ 2 (6 ปีให้หลัง) กล่าวว่า ในประเทศไทยได้มีการแก้กฎหมายสิทธิบัตรยาเมื่อปี พ.ศ. 2535 ทำให้มีการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น และทำให้มีการผูกขาดตลาดนานขึ้น จากเดิมที่ให้ความคุ้มครอง 15 ปี กลายเป็น 20 ปี และจากเดิมที่ให้มีการคุ้มครองเฉพาะแค่กรรมวิธีการผลิตยา กลายเป็นให้ความคุ้มครองในเรื่องของผลิตภัณฑ์ยาด้วย ทำให้อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญในประเทศไทยไม่มีโอกาสทางการผลิตยาชื่อสามัญ จากในอดีตที่บริษัทยาผลิตยาชื่อสามัญสามารถหากรรมวิธีอื่นในการผลิตยานั้น ๆ เป็นยาชื่อสามัญออกมาขายได้ ทำให้เกิดการแข่งขัน ไม่ใช่มียาต้นแบบเพียงอย่างเดียว ทำให้ราคายาถูกลง แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรยา ทำให้โอกาสในการผลิตยาชื่อสามัญหายไป ต้องนำยาเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการผลิตยาในประเทศลดลง

จากการเปรียบเทียบราคายาจะเห็นได้ชัดว่ายาต้นแบบกับยาชื่อสามัญราคาจะแตกต่างกันมากตั้งแต่ 14-80 เท่า หากพิจารณาเฉพาะในยาต้านไวรัสเอดส์จะแบ่งเป็นยาสูตรแรก หรือยาสูตรพื้นฐาน ยาสูตรที่ 2 และ 3 โดยราคายาสูตรพื้นฐานกับยาสูตรที่ 2 จะต่างกันถึง 3.1 เท่า ราคายาสูตรที่ 2 จะต่างจากยาสูตรที่ 3 ถึง 6.3 เท่า แต่ถ้าเปรียบเทียบราคายาสูตรพื้นฐานกับยาสูตรที่ 3 จะต่างกันถึง 19.3 เท่า หลายคนเข้าใจว่าการให้สิทธิบัตรยาเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา แต่จริง ๆ แล้วจากการศึกษาพบว่า ถ้าประเทศใดมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีมากอยู่แล้ว สิทธิบัตรยาที่เข้มงวดจะนำไปสู่การพัฒนา ในขณะที่ประเทศที่มีเทคโนโลยีต่ำยิ่งมีสิทธิบัตรยาที่เข้มงวด ยิ่งทำให้การพัฒนาน้อยลง

“จะเห็นได้ว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาในการเข้าถึงยาอยู่แล้ว หากมีการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป แล้วยอมให้มีการผูกขาดตลาดได้ยาวนานขึ้นอีก ความสามารถในการพึ่งพิงตัวเองในการผลิตยาในประเทศไทยก็ยิ่งน้อยลง ก็จะยิ่งเกิดปัญหาประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้” ภญ.รศ.ดร.จิราพร กล่าว

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การเจรจา FTA แล้วทำเรื่องข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่า TRIPs จะเป็นการกีดกันไม่ให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะยาต้านไวรัสเอดส์เท่านั้น แต่เป็นยาสำหรับโรคเรื้อรังทุก ๆ โรค ซึ่งเป็นยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยบริษัทยาเหล่านี้จะทำทุกรูปแบบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ยามะเร็งจะไปจับผู้ป่วยบางกลุ่มมาเป็นพวก แม้จะมีผู้ป่วยส่วนใหญ่มาเรียกร้องถึงสิทธิบัตรการเข้าถึงยา แต่ก็จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ได้รับยาฟรีจากบริษัทนั้น ๆ มาปกป้อง ทำให้ผู้ป่วยสู้กันเอง โดยที่บริษัทยาเหล่านั้นไม่ต้องออกหน้า เรียกว่าทำทุกรูปแบบจริง ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นจะต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ดีที่สุด

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการทำเรื่องงานวิจัยน้อยลง จึงต้องพยายามสร้างองค์กรการวิจัยและพัฒนายาอย่างรวดเร็ว โดยอาจจะต้องมีพันธมิตรมาร่วมด้วยอย่างบริษัทยาในอินเดีย เพื่อที่จะร่วมมือกันพัฒนาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เภสัชกรส่วนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลจะต้องทำความเข้าใจกับยาชื่อสามัญให้มากขึ้นว่ายาชื่อสามัญนั้นมีคุณภาพ ประสิทธิผลไม่ได้แตกต่างจากยาต้นแบบเลย ในเมื่อต้องการให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา ยาชื่อสามัญจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นจะต้องมีการเรียนการสอนในหลักสูตรเภสัชศาสตร์ในชั้นปี 5 และ 6 มากขึ้น

“หากกล่าวถึงเรื่อง TRIPs หรือ FTA หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกิดปัญหากับตัวเองได้เข้าใจในเรื่องนี้ ปัญหาการใช้ยา เข้าไม่ถึงยา ไม่ใช่ต้องรอให้อายุมาก หรือกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอดส์เสียก่อนจึงจะมารับรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งวิธีการที่จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ตระหนักในเรื่องเหล่านี้ และเห็นถึงผลเสียในระยะยาว สื่อถือเป็นกลไกสำคัญ สื่อต้องเท่าทันในเรื่องนี้ และเป็นผู้ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยสื่อจะต้องเข้าใจจริง ๆ จากประเด็นปัญหาจริง ๆ ไม่ได้สนใจเพียงแค่ข่าวฉาบฉวย” ภญ.อัจฉรา กล่าว

ด้าน Kajal Bhardwaj นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาจากประเทศอินเดีย กล่าวว่า ในอดีตต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน TRIPs ก็ถือว่ายากอยู่แล้ว ตอนนี้กลับมี TRIPs Plus ขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นปัญหาทั้งของอินเดียและประเทศไทย ประมาณปี พ.ศ. 2548-2549 อินเดียยังไม่มีการให้สิทธิบัตรตัวยา แต่เนื่องจากอินเดียเป็นสมาชิกของ WTO จึงจำเป็นจะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรยาของตนเอง ซึ่งก็คล้าย ๆ กับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปที่ต้องทำตาม WTO ต้องทำตามข้อตกลง TRIPs จากเดิมที่ไม่เคยให้มีการผูกขาดในตัวยา ก็ต้องมีการยอมให้เจ้าของสิทธิ์ผูกขาดในตัวยาเป็นเวลา 20 ปี

การที่ยอมรับให้มีการผูกขาดยา 20 ปี ตามข้อตกลง TRIPs ก็ทำให้บริษัทยาชื่อสามัญในอินเดียไม่สามารถผลิตยาได้ในช่วงเวลาที่ติดสิทธิบัตร ถึงแม้ว่าในอินเดียจะมีบริษัทผลิตยาชื่อสามัญใหญ่ ๆ มากมายที่ยังคงทำการผลิตอยู่ แต่ผลิตได้แต่ยาชื่อสามัญเก่า ๆ เท่านั้น แต่ยาใหม่ ๆ ในปัจจุบัน เช่น ยามะเร็ง ยาโรคเรื้อรังต่าง ๆ กลับผลิตไม่ได้ ยาต้นแบบที่เป็นยาต้านไวรัสเอดส์สูตรพื้นฐานจะมีราคาต่างจากยาต้านไวรัสเอดส์สูตรที่ 3 อยู่ประมาณ 6 เท่า ซึ่งถือว่าแพงมาก ราคาอยู่ที่ 3-9 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี รวมถึงยามะเร็งและยาต้านไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งมีราคาแพงถึงหมื่นดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อินเดียกำลังแก้ไขกฎหมาย ประชาชนทุกคนสัมผัสได้ถึงปัญหาที่จะตามมา จึงมีการประท้วงและรณรงค์เพื่อขอให้อินเดียไม่แก้กฎหมายสิทธิบัตรยา หรือหากต้องแก้ไขจริงก็ต้องให้มีช่องหายใจในกฎหมายนั้น นอกจากจะมีการประท้วงเกิดขึ้นในอินเดียแล้ว ประเทศในตะวันตกอย่างฝรั่งเศสยังได้ส่งจดหมายมาว่า ขอให้เหลือยาชื่อสามัญอยู่บ้าง เนื่องจากรัฐบาลของฝรั่งเศสต้องซื้อยาชื่อสามัญจากอินเดียเพื่อไปบริจาค และสนับสนุนยาต้านไวรัสเอดส์ให้แก่ประเทศในแอฟริกา

แม้ว่าจะมีการโต้เถียงกันอย่างมากในการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรยา แต่เนื่องจากได้มีการเซ็นสัญญาตามข้อตกลงของ WTO ในการแก้กฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่อินเดียก็ยังมีมาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลง TRIPs ในข้อที่ว่าหากเป็น Evergreening Patent หรือสิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุจะไม่สามารถต่ออายุสิทธิบัตรยาได้ ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทหนึ่งคิดค้นยาขึ้นมาแล้วจดขึ้นทะเบียนเป็นแคปซูล ได้สิทธิบัตร 20 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อใกล้หมดสิทธิบัตรยาดังกล่าว ทางบริษัทเปลี่ยนเป็นรูปแบบไซรัป บอกว่าเด็กสามารถรับประทานได้ แล้วมาขอต่ออายุสิทธิบัตรอีก 20 ปี ซึ่งในประเด็นนี้กฎหมายอินเดียเขียนไว้ชัดเจนว่าหากเป็นการเปลี่ยนแปลงนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโมเลกุลใหม่ ๆ ถือว่าไม่ได้การคุ้มครองในสิทธิบัตรนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ยาต้านไวรัสเอดส์และยาอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโมเลกุลเก่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ แต่ว่ายาใหม่บางตัวก็ยังมีราคาแพงมาก ๆ อย่างยารักษามะเร็งตับและไต ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่ายาอย่างเดียว ไม่นับรวมค่าไม่สามารถทำงานได้ ค่ารักษา ค่าเดินทาง จนทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยากว่า 40,000 คน รัฐบาลอินเดียจึงทำเหมือนที่รัฐบาลไทยทำ นั่นคือประกาศการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร Compulsory Licensing หรือ CL ยา

ทั้งนี้หากพิจารณาดูแล้วอาจจะคิดว่าทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ยาเก่า บริษัทยาชื่อสามัญสามารถผลิตได้ ยาใหม่ก็ยังพอมีช่องทางหายใจในการทำ CL ยา แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ตั้งแต่มีกฎหมายสิทธิบัตรยานี้ ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรม ผู้ป่วยที่รวมกันเป็นสมาคม ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อ ถูกบริษัทยาฟ้องทั้งหมด แต่ก็โชคดีอยู่บ้างที่ศาลของอินเดียพิจารณาไปตามรัฐธรรมนูญของอินเดีย ซึ่งในรัฐธรรมนูญของอินเดียเขียนชัดเรื่องสิทธิการเข้าถึงการรักษา

การต่อสู้ในอินเดียไม่ได้ต่อสู้เฉพาะกับบริษัทยาเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับชาติตะวันตกไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การต่อสู้ในอินเดียจะมี 2 ขั้น ขั้นที่หนึ่งคือ สู้กับบริษัทยาข้ามชาติ และขั้นที่สองคือ การต่อสู้กับการเจรจา FTA ที่ต้องการจะแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรยาให้ไปไกลกว่าข้อตกลงใน WTO หรือไปไกลกว่า TRIPs ซึ่งในขณะนี้อินเดียกำลังมีการเจรจากับสหภาพยุโรป

ข้อเรียกร้องที่เกินไปที่อยู่ในการเจรจา FTA คือจากเดิมข้อตกลงใน WTO ให้มีสิทธิผูกขาดกับเจ้าของสิทธิ์ในตัวยาเป็นเวลา 20 ปี แต่ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปผ่าน FTA จะยาวนานกว่านั้น และข้อตกลงใน WTO ให้มีระบบผูกขาดแบบสิทธิบัตรเท่านั้น แต่ข้อเรียกร้องผ่าน FTA จะมีการผูกขาดข้อมูลทางยาด้วย ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องการขึ้นทะเบียนยา และใช้เวลาในการผูกขาดเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้การผูกขาดข้อมูลทางยายังรวมถึงยาสมุนไพรด้วย ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการใช้ยาสมุนไพรกันมากจึงถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน นอกจากนี้หากรัฐบาลออกนโยบายที่ขัดข้อตกลง บริษัทยาข้ามชาติหรือนักลงทุนมีสิทธิ์ฟ้องร้องผ่านระบบอนุญาโตตุลาการนอกประเทศ หรือระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือล้มนโยบายนั้น

ทั้งนี้ระหว่างการเจรจา FTA ใน 6 ปีที่ผ่านมา มีการประท้วงและการรณรงค์ในอินเดียอย่างเข้มข้น รวมทั้งได้แรงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ทำให้มีความชัดเจนขึ้น โดยทั้งรัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีการค้า ประกาศชัดว่าจะไม่ยอมข้อตกลงที่เกินกว่า TRIPs นั่นคือเมื่อประชาชนออกมาเรียกร้องไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากก็เหมือนเสียงของประชาชนดังมากขึ้น ทำให้รัฐบาลมีอำนาจต่อรองมากขึ้นด้วยนั่นเอง อีกหนทางหนึ่งคือ การใช้ความร่วมมือระดับภูมิภาค อาทิ การจับมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง เป็นต้น

คุณนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปมีการเจรจาไปแล้ว 2 ครั้ง มีข้อเรียกร้องหลายอย่างของสหภาพยุโรปที่ไปไกลเกินกว่า TRIPs เป็นการเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญาที่สาหัสมาก แต่ว่าที่น่ากลัวกว่านั้นคือ การล็อบบี้ภายในของบริษัทยาข้ามชาติได้เข้ามากดดันข้าราชการไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเปลี่ยนกฎหมายภายในประเทศโดยข้าราชการไทยที่ได้ผลประโยชน์กับบริษัทยาข้ามชาติ

โดยได้มีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายที่ไปไกลเกินกว่า TRIPs มานานแล้ว ขอบเขตของกฎหมายที่ร่างใหม่ก็ไปรับใช้ FTA และ TRIPs Plus เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งมีการพัฒนาของโรคไปจนกระทั่งยาสูตรหนึ่งไม่สามารถเอาอยู่แล้ว จนผู้ป่วยต้องพึ่งยาสูตรที่ 2 หรือ 3 แม้ว่าปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพจะยอมจ่ายยาสูตรที่ 2 และ 3 เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยยังน้อย แต่หากมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเป็นแสน ๆ คน เมื่อประเทศไทยผลิตยาเองไม่ได้ จะทำ CL ยาก็ทำไม่ได้ การใช้ความยืดหยุ่นต่าง ๆ ที่มีอยู่ใน TRIPs ใช้ไม่ได้ จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถจ่ายค่ายาได้ รัฐบาลก็ต้องให้ผู้ป่วยมีการร่วมจ่าย ซึ่งต่อไปนี้ผู้ป่วยที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรคที่มีการใช้จ่ายสูงอาจจะต้องถูกเก็บเงินเมื่อไปหาแพทย์ หรือการจ่ายเงินด้วยระบบอื่นที่ถูกออกแบบมา เพราะผลพวงจาก FTA กับการเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลยกว่า TRIPs ซึ่งรับรองได้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอนหากประชาชนไม่ลุกขึ้นมาช่วยกันเรียกร้อง

คุณนิมิตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ การต่อสู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือว่าเรื่อง FTA เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่มีการแบ่งแยกทางการเมืองเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งการเคลื่อนไหวทุกอย่างที่จะเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นประเด็นทางการเมืองไปทั้งหมด กลายเป็นการต่อต้านรัฐบาล ล้มล้างรัฐบาล ซึ่งก็จะมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านทันที

นอกจากนี้ในขณะที่ฝ่ายของประชาชนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนด้านทรัพย์สินทางปัญญา ฝ่ายบริษัทยาข้ามชาติเองก็ไม่น้อยหน้า ลุกขึ้นมาล็อบบี้ฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำทำทุกอย่างให้ทุกคนเห็นดีเห็นงามกับ TRIPs Plus รวมทั้งพยายามนำเงินเข้าไปใส่ในประชาชนบางกลุ่ม ให้ประชาชนกลุ่มนั้นขึ้นมาบอกว่าบริษัทยาข้ามชาติทำดีแล้ว ผลิตยาเพื่อคนทั้งโลก โดยไม่นึกถึงส่วนที่บริษัทยาเหล่านั้นค้ากำไรบนความเจ็บป่วยของผู้อื่น และความพยายามที่จะเข้าถึงพวกนักการเมืองที่มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อบอกให้ประชาชนเห็นว่าการเจรจาการค้านั้นเป็นประโยชน์กับประเทศ ทั้งที่แอบแฝงผลประโยชน์ข้ามชาติของตนเองไว้

“ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องทำต่อไป ต้องสร้างความเข้าใจ ดึงคนใหม่ ๆ เข้ามามีส่วนร่วม ภาคประชาชนก็จะต้องมีส่วนร่วมกับภาควิชาการและภาคข้าราชการเพื่อผนึกกำลังกัน เพราะไม่ว่าจะอย่างไร กระบวนการมีส่วนร่วมยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้แม้ว่ามันจะยาก แต่ก็หนีไม่พ้น กระบวนการมีส่วนร่วมต้องเกิด และเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ต่อไป” คุณนิมิตร์ กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม จากผลการประชุมเจรจา FTA ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป ครั้งที่ 2 สำหรับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่ภาคประชาสังคมกังวลนั้น ประเทศไทยยังคงย้ำกับสหภาพยุโรปว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก แนวทางการเจรจาของไทยจะยึดหลักการของ TRIPs ภายใต้ข้อตกลงของ WTO ซึ่งสหภาพยุโรปตระหนักถึงข้อกังวลดังกล่าวของฝ่ายไทย และยืนยันว่าสหภาพยุโรปจะมีความยืดหยุ่นในเรื่องนี้ และเห็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคงต้องรอติดตามผลกันต่อไปในอนาคตว่าเรื่อง “สิทธิบัตรยา” ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร