โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ภัยร้ายทำลายลูกน้อยที่พ่อแม่หลายคนยังไม่รู้
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก หรือJuvenile Idiopathic Arthritis (JIA) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (Autoimmune Disease) หรือที่เรียกว่าภูมิแพ้ตัวเอง หรือแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันหันกลับมาทำร้ายข้อตัวเอง ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายข้อตัวเองนี้เกิดจากอะไร จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ซึ่งสามารถเกิดได้กับข้อทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกต้นคอ และบริเวณขากรรไกร เป็นต้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตความผิดปกติของลูก และเพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก เมื่อเร็ว ๆ นี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็กจากโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ร่วมจัดกิจกรรม “ค่ายโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก” (JIA Camp) ปีที่ 3 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อให้ความรู้พ่อแม่และผู้ปกครองเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก วิธีสังเกตอาการ แนวทางการรักษา และการดูแลลูกน้อยอย่างถูกวิธี
พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำวิธีสังเกตอาการลูกน้อยที่ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กว่า “โดยส่วนมากอาการของข้ออักเสบหรือข้อติดมักจะเกิดกับลูกน้อยในตอนเช้า หรือที่เรียกว่า ‘ภาวะ Morning Stiffness’ หรือในช่วงที่อากาศเย็น ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการว่า ลูกน้อยมีอาการข้อตึงแข็งทำให้ขยับหรือลุกลำบากหรือไม่ หรือการเดินกะเผลกในช่วงเช้า รวมไปถึงการสังเกตอาการเจ็บปวดต่าง ๆ จากสีหน้าท่าทางของลูก เช่น เจ็บมือหากโดนจับหรือจูงมือ เจ็บขาหรือข้อเท้าเวลาเดิน ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีอาการแสดงที่สำคัญคือ เป็นไข้สูงวันละครั้ง อาจจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ได้ หากเป็นช่วงเย็นมักจะเป็นช่วงเย็นของเวลาเดียวกัน และในช่วงไข้สูงเด็กจะมีอาการซึม แต่พอไข้ลดลงเด็กจะรู้สึกสบายดี ซึ่งต่างจากการติดเชื้อทั่ว ๆ ไปที่เด็กมักจะไข้สูงตลอดทั้งวัน นอกจากข้ออักเสบแล้วยังอาจจะมีอาการของผื่นเม็ดแดง ๆ เล็ก ๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้น และเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไปอีกด้วย”
“โรคนี้อาจจะยากในการวินิจฉัย แต่หากคุณพ่อคุณแม่ช่วยสังเกตและอธิบายอาการของลูกได้ก็จะสามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ตรงจุดยิ่งขึ้น โดยเคล็ดลับง่าย ๆ ในการสังเกตอาการข้ออักเสบของลูกน้อยคือลองเปรียบเทียบระหว่างข้อข้างซ้ายและข้อข้างขวา หรือเปรียบเทียบกับพี่น้องหรือเพื่อน ๆ หากมีอาการข้ออักเสบจะสังเกตได้ถึงข้อที่บวม นูน แดง หรือจับไปบริเวณข้อที่อักเสบจะรู้สึกร้อน ๆ วิธีสังเกตอีกอย่างหนึ่งให้สังเกตจากบริเวณที่เป็น อาทิ หากเป็นข้ออักเสบบริเวณที่ข้อเข่าให้สังเกตว่าข้อเข่าจะมีรอยบุ๋มเหมือนลักยิ้ม หากรอยบุ๋มหายไปแสดงว่าข้ออาจจะเริ่มบวมหรือมีน้ำในข้อได้ หากเป็นที่ข้อเท้าให้สังเกตขณะเด็กนอนคว่ำเท้า ข้อจะอูมขึ้นมา และหากเป็นที่นิ้วมือให้สังเกตว่าลูกจะไม่สามารถจับดินสอเขียนหนังสือได้ หรือจะหยิบจับอะไรได้ลำบาก เป็นต้น”
สำหรับการรักษานั้น จะต้องให้ตัวยาที่เหมาะสมกับกลุ่มโรคทั้ง 7 กลุ่มแตกต่างกันไป โดยการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดเม็ด ยาตัวแรกที่เด็กที่ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบทุกคนจะได้รับ ซึ่งยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็วแต่อาจทำให้ปวดท้อง ระคายเคืองกระเพาะอาหาร บางรายอาจจะต้องรับประทานยาโรคกระเพาะร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลไม่ให้ลูกขาดน้ำ ใช้ยากดภูมิคุ้มกันในกลุ่มสเตียรอยด์ มักใช้กับผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นข้ออักเสบทั่วร่างกาย หรือมีอาการรุนแรง และรักษาด้วยยากลุ่มสารชีวภาพที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามหรือให้ทางน้ำเกลือ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วและมีประสิทธิภาพสูง สามารถจับสารที่ก่อให้เกิดข้ออักเสบได้โดยตรง แต่ราคาค่อนข้างแพง และอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยโรคตับอักเสบและวัณโรคได้ และอีกวิธีคือ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ เนื่องจากยาสเตียรอยด์เป็นยาที่ต้านการอักเสบได้ดีมากจึงให้ผลเร็ว ตรงจุด และผลข้างเคียงน้อยที่สุด แต่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการข้ออักเสบเพียงข้อเดียว โดยยาแต่ละชนิดที่ใช้ในการรักษาสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ข้อของเด็กถูกทำลาย และลดความเสี่ยงจากความพิการได้
ผศ.พญ.มลรัชฐา ภาณุวรรณากร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อช่วยฟื้นฟูลูกน้อยว่า “นอกจากการใช้ยาในการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังจำเป็นต้องคอยช่วยเหลือฟื้นฟูลูกน้อยทางกายภาพอีกด้วย สำหรับวิธีการปฏิบัตินั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกออกกำลังกายเบา ๆ ที่เหมาะสมและเน้นที่การบริหารข้อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การวิ่งช้า ๆ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น หรือการบริหารข้อ เพื่อไม่ให้เกิดอาการข้อติด เช่น หากจะบริหารข้อเข่าก็อาจทำท่าหมุนหัวเข่า หากจะบริหารนิ้วมืออาจบริหารด้วยการกำมือแบบหลวม ๆ หรือฝึกบีบลูกบอล หากจะบริหารข้อเท้าก็อาจจะบริหารด้วยการยืนเขย่ง หรือการกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงกีฬาประเภทที่มีการกระแทกหรือการต่อสู้ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล หรือเทควันโด จะทำให้ข้อเกิดการอักเสบมากขึ้นได้”
นอกจากการรักษาด้วยยาและการฟื้นฟูทางกายภาพแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังจำเป็นต้องดูแลลูกน้อยในด้านต่าง ๆ ด้วย อาทิ การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานอาหารที่สุกและสะอาด ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารดิบ เพราะเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้มักจะได้รับยากดภูมิคุ้มกัน จึงติดเชื้อได้ง่าย และที่สำคัญยังควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายและละเอียดอ่อน เพราะต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็กด้วย ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการของลูกน้อย และพามาปรึกษาแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติก็จะช่วยให้อาการข้ออักเสบไม่ลุกลาม และการรักษาก็สามารถทำได้โดยง่าย เพื่อให้ลูกน้อยไม่ต้องทนทรมานกับโรคร้ายเช่นนี้ และสามารถเติบโตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป