บรรยายใต้ภาพ 1. ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ 2. คุณณัฐยา บุญภักดี
‘ท้องไม่พร้อม’ ปัญหาใกล้ตัวเภสัชกร
จากรายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 สำรวจจากโรงพยาบาล 101 แห่ง ใน 13 จังหวัด พบว่า 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยแท้งเอง และ 1 ใน 3 เป็นผู้ป่วยทำแท้ง สำหรับผู้ป่วยทำแท้งนั้นเป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปีมากที่สุดถึง 28% ยังศึกษาอยู่ 30.4% และไม่มีรายได้ 45% ในกลุ่มผู้ที่ทำแท้ง 71.5% เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจและ 53.1% ไม่ได้คุมกำเนิด สาเหตุที่ตัดสินใจทำแท้งส่วนใหญ่เป็นสาเหตุด้านสังคม/ครอบครัว, ด้านสุขภาพ และสาเหตุทางด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ นอกจากนี้มีผู้ป่วยมากถึง 20% ที่ทำแท้งด้วยตัวเอง และอีกเกือบ 20% ที่ทำแท้งโดยผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ทราบว่าผู้ทำแท้งเป็นใคร ส่งผลให้มีผู้ป่วยประมาณ 10% ทำแท้งด้วยวิธีการที่ไม่ปลอดภัย เช่น การบีบหน้าท้อง และการใส่ของแข็งหรือฉีดสารต่าง ๆ ทางช่องคลอด รวมทั้งผู้ป่วยอีก 9% ที่ใช้วิธีการทำแท้งด้วยการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทำจากเหล็ก ส่งผลให้ผู้ป่วยทำแท้ง 21.4% มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบมากที่สุดคือ ตกเลือดมากจนต้องให้เลือดถึง 14.8%
ข้อมูลจากสำนักอนามัยเจริญพันธุ์พบว่า ในปี พ.ศ. 2555 มีหญิงอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรจำนวนกว่า 120,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 หรือมีหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี คลอดบุตรวันละ 365 คน มีหญิงอายุน้อยกว่า 15 ปี คลอดบุตรวันละ 10 คน ด้านข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการทำแท้งปีละ 25-30 คน และบาดเจ็บเพราะภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งประมาณ 30,000 คน ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้ที่มาทำแท้งเป็นนักเรียน นักศึกษา 27% อายุต่ำกว่า 20 ปี และ 46% อายุต่ำกว่า 25 ปี โดยผู้ที่มาทำแท้ง 70% ไม่ตั้งใจตั้งครรภ์ และไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด 30% ใช้วิธีการคุมกำเนิดแล้วแต่ผิดพลาด
จากตัวเลขดังกล่าวคงจะทำให้เห็นภาพของปัญหาการท้องไม่พร้อมได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่ากำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นจะต้องช่วยกันแก้ไขไม่ว่าจะเป็นในระดับกระทรวง ชุมชน หรือแม้แต่ครอบครัว ทั้งนี้สำหรับเภสัชกรถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เนื่องจากเภสัชกรเหมือนเป็นแหล่งข้อมูลสุขภาพระดับชุมชนที่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมักจะเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ซึ่งรวมถึงปัญหาการตั้งครรภ์ด้วย ด้วยความที่หน้างานเหล่านี้มิได้เกี่ยวกับยาเสียทีเดียว แต่เกี่ยวเนื่องกับการช่วยเหลือและโอบอุ้มชีวิต ไม่ใช่เฉพาะชีวิตเด็กในท้อง แต่รวมถึงชีวิตของคุณแม่ที่ท้องไม่พร้อมด้วย
ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ในการดำเนินโครงการ “การสร้างระบบช่วยเหลือแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมโดยเภสัชกรชุมชนในร้านยา” ซึ่งได้มีการจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการอบรมเภสัชกรร้านยาเพื่อสร้างระบบช่วยเหลือดูแลผู้ที่ท้องไม่พร้อมอย่างรอบด้าน และเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างสมาคมฯ และองค์กรภาคีสุขภาพในการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม และช่วยให้ผู้ที่ท้องไม่พร้อมโดยเฉพาะเยาวชนสามารถที่จะแก้ปัญหา และกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพทั้งกายและใจ
ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ร้านยาจัดเป็นหน่วยสาธารณสุขหนึ่งที่มีการกระจายตัวในชุมชนและมีความใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้สะดวก ดังนั้น ร้านยาเปรียบเสมือนเป็นแหล่งข้อมูลสุขภาพสำหรับประชาชนในการเข้ารับบริการได้ง่าย และด้วยความพร้อมของเภสัชกรชุมชนที่ปฏิบัติงานย่อมเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยที่ต้องการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพ บทบาทเภสัชกรชุมชนที่ปฏิบัติงานในร้านยาหรือในระดับปฐมภูมิจึงควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการบริบาลทางเภสัชกรรมจากระดับปัจเจกบุคคลเข้าสู่ระดับครอบครัวและดูแลชุมชน ซึ่งเป็นบทบาททั้งเชิงรุกและเชิงรับของเภสัชกรชุมชนในการแก้ปัญหาในชุมชน โดยสร้างระบบภาคีเครือข่ายวิชาชีพทั้งภาครัฐและภาคประชาชน โดยมุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนโดยตรงและต่อสังคม
เภสัชกรชุมชนในร้านยาสามารถแบ่งบทบาทต่อผู้ป่วยและประชาชนได้ 4 หลัก คือ
1. บทบาทการเฝ้าระวังโรค หรือรูปแบบการบริการคัดกรอง ซึ่งสามารถให้บริการคัดกรองได้หลายรูปแบบ อาทิ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคซึมเศร้า เป็นต้น ประชาชนกลุ่มเสี่ยงการติดเชื้อในชุมชน เช่น โรคหวัด โรคมือ เท้า ปาก โรคไข้เลือดออก โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น ประชาชนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การประเมินจากกลุ่มซื้อยาคุมฉุกเฉิน การติดเชื้อหนองใน เป็นต้น โดยมีการส่งข้อมูลกลับเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดการความเสี่ยงโรคที่เกิดในชุมชนและมีผลกระทบต่อสังคม เช่น การให้คำแนะนำเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย การร่วมรณรงค์กับกิจกรรม หรือให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ
2. บทบาทการจัดการด้านยา เน้นการสร้างความปลอดภัยด้านยาให้สำหรับประชาชนที่มีการใช้ยา ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาต่อเนื่อง โดยมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา Medication Therapy Management (MTM): รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำข้อมูลของผู้ป่วยมาประเมินการใช้ยา ค้นหาปัญหาจากการใช้ยา (Drug related problems: DRPs), ระบบบันทึกข้อมูล, วางแผนการใช้ยา การรักษาโรค, แก้ปัญหาและส่งต่อแพทย์ พร้อมทั้งการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในทางปฏิบัติงานของเภสัชกรชุมชนได้มีการจัดการข้อมูลที่ยังขาดการจัดทำระบบบันทึก ซึ่งหากได้มีการจัดระบบตามขั้นตอนนี้ ย่อมทำให้มีประสิทธิภาพของการทำงานและส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด
3. บทบาทการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนและผู้ป่วย เน้นการแก้ปัญหาพฤติกรรมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและโรคที่ดำเนินอยู่ เช่น การรณรงค์เลิกบุหรี่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย
4. บทบาทการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นการใช้ความปลอดภัย ด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการดูแลตนเอง (Self care) เช่น โครงการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย รายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้ด้านอาหารและยา และให้ความรู้ประชาชนด้านส่งเสริมสุขภาพในชุมชน
อย่างไรก็ตาม โครงการสร้างระบบช่วยเหลือแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมโดยเภสัชกรชุมชนในร้านยาเกิดมาจากเภสัชกรชุมชนที่ได้มีโอกาสให้บริการกลุ่มเสี่ยงในชุมชนหรือกลุ่มที่ต้องการที่ปรึกษา แต่ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าจะต้องมีการดูแลแนะแนวทางอย่างไรให้ถูกต้อง ดังนั้น หากเภสัชกรชุมชนในร้านยาได้ทราบถึงแนวทางการแนะนำหรือเครือข่ายเพื่อส่งต่อในการช่วยเหลือดูแลผู้ที่ท้องไม่พร้อมอย่างรอบด้านก็จะสามารถร่วมพัฒนาระบบช่วยเหลือการท้องไม่พร้อมของกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม โดยเน้นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพที่ดีต่อประชาชน เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งของการให้บริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ
คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้ทำการศึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมจาก 2 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2543 พบว่า จากจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 100 คน จะมีผู้ที่พร้อมจะท้อง 45% และท้องไม่พร้อม 55% ผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมมีทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน แต่กลุ่มที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น โดยกลุ่มที่มีโอกาสท้องไม่พร้อมสูงจะอยู่ที่ช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี และมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
สาเหตุที่ทำให้ท้องไม่พร้อมมักจะไม่ใช่สาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่จะประกอบจากหลาย ๆ สาเหตุรวมกัน เช่น เป็นนักเรียนอยู่ ครอบครัวไม่ยอมรับ ผู้ชายทอดทิ้ง ถูกข่มขืน เป็นต้น โดยสาเหตุที่พบได้ค่อนข้างน้อยคือ เป็นนักเรียน และถูกข่มขืน แต่สาเหตุที่พบมากที่สุดคือ สาเหตุทางเศรษฐกิจ คือกว่า 40% รองลงมาคือ ไม่รู้จักวิธีคุมกำเนิด ซึ่งถือว่าน่าแปลกเพราะประเทศไทยมีสถิติหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงานแล้วมีการคุมกำเนิดสูงถึงกว่า 70% แต่หากลงลึกถึงรายละเอียดแล้ว จากแบบสอบถามถึงการคุมกำเนิด แม้ส่วนใหญ่ตอบว่ารู้จัก แต่หากถามลงลึกลงไปว่ารู้จักการคุมกำเนิดอะไรบ้าง และมีวิธีใช้อย่างไร พบว่าผู้ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มักตอบไม่ถูก แสดงว่าคนกลุ่มนี้ยังไม่รู้จักวิธีคุมกำเนิดที่ถูกต้อง อีกปัญหาคือ คุมแล้วแต่พลาด คือใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้ว ทำหมันแล้ว แต่กลับตั้งท้อง หรือสาเหตุจากมีลูกถี่เกินไป หัวปีท้ายปีจนเลี้ยงไม่ไหว และสาเหตุที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เกือบ 25% ไม่คิดว่าจะท้อง เนื่องจากประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นประจำอยู่แล้ว หรือสุขภาพร่างกายไม่ดีจึงไม่คิดว่าจะท้องง่าย รวมถึงสาเหตุเพิ่งแต่งงาน ไม่คิดว่าจะท้องเร็วด้วย
เรื่องการคุมกำเนิด ในกลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือว่ามีคู่ครองที่อาจจะไม่ได้แต่งงาน หรือจดทะเบียนสมรส กว่า 60% มีการคุมกำเนิด แต่ได้รับผลข้างเคียง หรือใช้ผิดวิธี ทำให้เกิดการท้องขึ้น เช่น สามีไม่ให้คุมกำเนิด เพราะมีความเชื่อว่าหากคุมกำเนิดแล้ว ผู้หญิงจะมีความต้องการทางเพศสูงมาก ไม่ได้คุมกำเนิดเพราะสุขภาพไม่ดี ไม่คิดว่าจะท้อง เป็นต้น ในกลุ่มผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน เป็นคนโสด หรือเป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะใช้ยาคุมฉุกเฉินพร่ำเพรื่อ มีการใช้บ่อยจนเกินไป อีกส่วนหนึ่ง วัยรุ่น วัยเรียน ไม่กล้าคุมกำเนิด เพราะกลัวว่าคนอื่นจะรู้ว่าตนเองมีเพศสัมพันธ์ ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้คุมกำเนิดมากที่สุดคือ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า หรือไม่ได้ตั้งใจ มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการสำรวจพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นพบว่า การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นฝ่ายหญิงมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกโดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า หรือไม่ได้ตั้งใจกว่า 60%
ทั้งนี้ผู้ที่ท้องไม่พร้อม ไม่ใช่ทุกคนจะคิดถึงการทำแท้งเป็นทางออกแรก เนื่องจากสังคมไทยมีความเชื่อที่ค่อนข้างลึกซึ้ง มองว่าการทำแท้งคือการฆ่า จะเป็นบาปติดตัวไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม ไม่คิดเรื่องการทำแท้งถึง 86% มีเพียง 14% เท่านั้นที่พยายามทำแท้ง โดยใน 14% ที่พยายามทำแท้งมีประมาณ 16% เท่านั้นที่ทำสำเร็จ ซึ่งถือว่ามีอัตราส่วนที่น้อยมาก จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีกลุ่มผู้ที่ท้องไม่พร้อมอยากจะทำแท้งแต่ไม่ได้ทำ เนื่องจากกว่าจะพบว่าตนเองท้องก็มีอายุครรภ์หลายเดือนแล้ว จะพบมากในกลุ่มวัยรุ่นที่ยังไม่มีประสบการณ์การตั้งครรภ์มาก่อน และไม่เคยจดบันทึกประจำเดือน อีกส่วนที่คิดจะทำแท้งแต่ไม่ได้ทำเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปทำที่ไหน หรือรู้ว่าจะไปทำที่ไหน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่ทำ ส่วนกลุ่มที่ไปทำแท้ง ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือทำไม่สำเร็จ หรือมีผลแทรกซ้อนจากการทำแท้งจนต้องมาที่โรงพยาบาล จากการเก็บข้อมูลพบว่าเกือบทุกคนไม่รู้สึกยินดีในการทำแท้ง มีแต่ความรู้สึกผิด สำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อม แต่ไม่ทำแท้ง จากการถอดบทเรียนพบว่า คนกลุ่มนี้มีระบบสนับสนุนเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชาย พ่อแม่ คุณครู นักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้ให้คำปรึกษาเข้ามาช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้องไม่พร้อมไม่ใช่จบลงที่การโน้มน้าวใจไม่ให้ทำแท้งเท่านั้น บางรายแม้จะโน้มน้าวไม่ให้ทำแท้งได้แล้ว มีการให้คู่รักวัยเรียนแต่งงานกัน ผลที่ตามมาคือ สุดท้ายแยกทางกัน ผู้หญิงท้องที่ 3 กับสามีคนที่ 3 ด้วยอายุเพียง 18 ปี เพราะปัญหาท้องไม่พร้อมไม่ว่าจะเกิดกับใคร จะทำให้พ่อแม่ พี่น้อง หรือแม้แต่ตัวผู้ท้องเองรู้สึกอับอาย รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองด้อยลง จึงมีโอกาสที่จะทำซ้ำ รู้สึกว่าจะต้องไปเกาะเกี่ยวผู้ชายคนใหม่ โดยหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบประคับประคองให้ผู้ที่ท้องไม่พร้อมอยู่รอดต่อไปได้ ไม่ให้เกิดปัญหาท้องไม่พร้อมซ้ำ
ทั้งนี้จากการสอบถามผู้ที่เคยผ่านสภาวะท้องไม่พร้อมมาก่อนว่าต้องการอะไร มีอยู่ 5 อย่างคือ 1. ผู้ที่จะให้คำปรึกษาแนะนำ ผู้ที่จะอยู่เคียงข้าง 2. ที่พัก ในกรณีที่ครอบครัวไม่ยอมรับ 3. บริการรับฝากเลี้ยง เมื่อคลอดแล้วไม่พร้อมจะเลี้ยงเอง แต่ก็ไม่อยากยกบุตรให้ใคร อยากจะเรียนต่อให้จบ หางานทำ แล้วกลับมาเลี้ยงเอง 4. สวัสดิการแม่เลี้ยงเดี่ยว 5. การทำแท้งที่ปลอดภัย
‘ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อจะไปทำแท้ง’ หากมีทางเลือก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องมีระบบสนับสนุนที่จะเกื้อหนุนมากกว่าโน้มน้าวใจไม่ให้ทำแท้งเท่านั้น ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษที่มีระบบดูแลครอบครัวผู้ที่ท้องไม่พร้อมจนสามารถเลี้ยงลูกจนอายุเกิน 17 ปี มีระบบสนับสนุน มีนักสังคมสงเคราะห์คอยติดตามช่วยเหลือทั้งเรื่องการศึกษา อาชีพ ที่อยู่อาศัย มีความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ในการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่มีนโยบายพิเศษที่รับพ่อแม่วัยรุ่นที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมเข้าทำงาน มีการทำโครงการพิเศษกับการเคหะแห่งชาติให้พ่อแม่วัยรุ่นที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมเข้าโครงการ หากตั้งใจเลี้ยงลูก ตั้งใจเรียนหนังสือ ตั้งใจฝึกอาชีพ จะลดราคาที่อยู่อาศัยให้เป็นพิเศษ เนื่องจากอังกฤษมีการทำวิจัยพบว่า พ่อแม่วัยรุ่นที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมหากปล่อยไปตามยถากรรมจะตกไปสู่ความยากจน และความยากจนซ้ำซ้อน มีปัญหาติดหนี้ ติดการพนัน ติดเหล้า ติดยาเสพติด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก และส่งผลให้เด็กติดเหล้า ติดเกม ติดการพนัน และท้องไม่พร้อม เป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด
ระบบให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ที่ท้องไม่พร้อมในประเทศไทยถือว่าเป็นจุดบกพร่องที่สุด ในระดับกระทรวงต่าง ๆ ที่มีงานเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ยังพบช่องโหว่มาก หรือไม่มีเลย ย้อนกลับไปดูภาค NGO ก็มีเพียงโมเดลเล็ก ๆ ในการช่วยเหลือดูแล โดยพบว่าการให้คำปรึกษามีมากที่สุด แต่ยังไม่ใช่การให้คำปรึกษาทางเลือก มักจะเป็นการให้คำปรึกษาแบบโน้มน้าวใจ ส่วนบริการบ้านพักจะต้องมีการดูแลทั้งเรื่องจิตใจ ร่างกาย ทักษะในการวางแผนชีวิต เรื่องการรับฝากเลี้ยง มีบริการบ้านพักสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีทุกจังหวัด แต่บริการเลี้ยงเด็กอ่อนชั่วคราวยังไม่มี มีแต่บริการยกบุตรบุญธรรม ในภาค NGO มีโครงการของสหทัยมูลนิธิทำมากว่า 30 ปีแล้ว ในการดูแลผู้หญิงในกลุ่มนี้โดยเฉพาะ คือมีการเปิดรับสมัครครอบครัวจิตอาสาที่จะรับเด็กที่เพิ่งคลอดไปดูแล โดยแม่อาจกลับไปเรียนต่อหรือไปทำงาน หากมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มีรายได้เพียงพอ จึงค่อยกลับมารับลูกไปเลี้ยงเอง ครอบครัวอาสาจะเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือดูแลเด็กให้ แต่แม่จะต้องมาเยี่ยมลูกสม่ำเสมอ เพิ่มตัวเลือกจากที่จะต้องยกเป็นบุตรบุญธรรมเพียงอย่างเดียว
การศึกษาและการฝึกอาชีพ ประเทศไทยยังไม่มีระบบการศึกษาที่จำเพาะเจาะจงที่จะดูแลผู้ที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน แต่ในปี พ.ศ. 2556 มีโรงเรียนบางแห่งที่อนุญาตให้ผู้ที่ท้องในวัยเรียนสามารถเรียนต่อได้ และมีโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในประเทศที่รับเฉพาะเด็กที่ท้องไม่พร้อม หรือมีปัญหาอื่นที่โรงเรียนอื่นไม่รับสามารถเข้าเรียนได้ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายของผู้อำนวยการและครู ไม่ใช่นโยบายในระดับกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการฝึกอาชีพ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีศูนย์ฝึกอาชีพอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ สวัสดิการแม่เลี้ยงเดี่ยวในประเทศไทยยังไม่มี แต่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมีเงินสงเคราะห์ฉุกเฉินในกรณีนี้ให้ หรือองค์การบริหารส่วนตำบลบางแห่งก็มีให้เช่นกัน การติดตามเยี่ยมบ้าน และเตรียมความพร้อมให้ครอบครัวและชุมชนยังไม่มีเช่นกันเนื่องจากบุคลากรมีไม่เพียงพอ
ในเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัย จริง ๆ แล้วตามกฎหมายการทำแท้งสามารถทำได้ ถ้า 1. ทำโดยแพทย์ 2. แพทย์ทำตามเงื่อนไขต่อไปนี้ คือ 1.) การตั้งครรภ์นั้นมีอันตรายต่อสุขภาพมารดา ทั้งกายและใจ 2.) การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ 3.) เป็นการตั้งครรภ์ของผู้ที่อายุไม่ถึง 15 ปี ไม่ว่าจะถูกข่มขืน หรือสมัครใจก็ตาม โดยวิธีการในปัจจุบันมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูดเนื้อจากโพรงมดลูก (Manual Vacuum Aspiration: MVA) ใช้กระบอกดูดสุญญากาศดูดชิ้นเนื้อออกจากโพรงมดลูก ทำให้เกิดการแท้งสมบูรณ์ได้เกือบ 100% ใช้ได้ผลในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือการใช้ยายุติการตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การใช้ยา Mifepristone ร่วมกับ Misoprostol ทำให้เกิดการแท้งสมบูรณ์ได้มากกว่า 95% ได้ผลในอายุครรภ์ก่อน 9 สัปดาห์ การใช้ยาสองตัวร่วมกันนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และการใช้ยา Misoprostol เพียงอย่างเดียวทำให้เกิดการแท้งสมบูรณ์ได้มากกว่า 80% ขึ้นไป ได้ผลที่อายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์
แม้ว่าระบบในประเทศไทยจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็มีหลายจังหวัดที่ได้ร่วมเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม อาทิ ขอนแก่น ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช เป็นต้น ส่วนในภาคตะวันออก อย่างชลบุรี ฉะเชิงเทรา กำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุย ซึ่งรูปแบบการทำงานของแต่ละจังหวัดจะมีหลากหลายขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ สำหรับเภสัชกรร้านยาที่ต้องการจะทำโครงการเหล่านี้ จุดแรกที่ควรจะไปพูดคุยด้วยคือ สำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัดเพื่อตรวจสอบว่าภายในจังหวัดมีเครือข่ายนี้อยู่หรือไม่ สำหรับงบประมาณสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือติดต่อมาที่ สคส. ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมทั้งโครงการเพศวิถีศึกษาเพื่อเยาวชนขององค์การแพธ (PATH) ที่วางรากฐานทางด้านนี้มานานอยู่แล้วด้วย
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ให้บริการช่วยเหลือในเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดอื่น ๆ ทั้งเรื่องปรึกษาทางเลือก ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ตั้งครรภ์ต่อ และปรึกษา/ช่วยเหลือเมื่อถูกกระทำรุนแรง หรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://choicesforum.wordpress.com รวมทั้งเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลความรู้เพศศึกษา การคุมกำเนิด ท้องไม่พร้อม และความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ www.teenpath.net, www.lovecarestation.com, http://talkaboutsex.thaihealth.or.th, www.womenonweb.org, http://tamtang.wordpress.com, www.familynetwork.or.th, www.thaisingleparent.com, www.friendsofwomen.or.th, www.wmp.or.th, http://teenzone-spk.mywebcommunity.org และ Application ในโทรศัพท์มือถือชื่อว่า Me Sex
“ร้านยาจะมีบทบาททั้งในส่วนงานป้องกัน อย่างการให้ความรู้ในโรงเรียน และงานให้ความช่วยเหลือดูแลที่จะไปช่วยเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ ให้เข้ากัน รวมถึงอาจจะกลายเป็นคลินิกเป็นมิตรวัยรุ่นที่ไม่ใช่คลินิกในโรงพยาบาล แต่เป็นร้านยาที่วัยรุ่นภูมิใจที่จะเดินเข้ามา” คุณณัฐยา กล่าวทิ้งท้าย