สารทาป้องกันยุง (Repellents)

สารทาป้องกันยุง (Repellents)

การถูกยุงกัดเป็นเรื่องปกติ แต่คงไม่ดีนักถ้าการถูกกัดนั้นจะนำมาซึ่งโรคที่อันตราย ยุงจัดเป็นพาหะนำโรคที่สามารถนำโรคมาสู่คน โดยยุงที่กัดจะเป็นยุงตัวเมีย(1) สำหรับผู้ที่ถูกกัดนั้นจะสามารถเกิดโรคชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นยุงชนิดใด ดังนั้น การป้องกันยุงกัดจึงเป็นหนึ่งในการป้องกันโรคที่ติดต่อได้โดยยุง โดยการป้องกันยุงกัดสามารถทำได้โดยวิธีต่าง ๆ กัน เช่น การกางมุ้ง การจุดยากันยุง การใช้ยาฆ่ายุง และการใช้สารทาป้องกันยุง เป็นต้น

รูปที่ 1 ยุงพาหะนำโรค(2)

ชนิดของยุงและโรคที่นำมาโดยยุง(1)

1. ยุงก้นปล่อง (Anopheles)

นำโรคไข้มาลาเรียซึ่งเกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นโปรโตซัวชนิดหนึ่ง

2. ยุงลาย (Aedes)

นำโรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง

3. ยุงลายเสือ (Mansonia)

นำโรคโรคเท้าช้าง ซึ่งเกิดจากเชื้อพยาธิฟิลาเรีย

4. ยุงรำคาญ (Culex)

นำโรคไข้สมองอับเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง

สำหรับอุปนิสัยการกินเลือดของยุงนั้น ยุงก้นปล่อง ยุงรำคาญ และยุงลายเสือ กัดกินเลือดในเวลากลางคืน ส่วนยุงลายจะกัดกินเลือดในเวลากลางวัน

สารทาป้องกันยุง(3)

สารทาป้องกันยุงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ โดยนิยามของสารทาป้องกันยุง หมายถึง สมุนไพรหรือสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการป้องกันการกัดของยุง และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ สามารถนำมาใช้ทาผิวหนังได้

กลไกในการไล่ยุงของสารทาป้องกันยุง(3,4)

สิ่งดึงดูดให้ยุงเข้ามาเกาะตามร่างกายก็คือ กลิ่นเหงื่อ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมากับลมหายใจ พวกมันจะมีระบบประสาทการรับรู้กลิ่นที่หลากหลาย เพื่อตรวจจับกลิ่นและระบุตำแหน่งของเหยื่อได้(3) ร่างกายของคนเราจะส่งกลิ่นออกมา ซึ่งการปล่อยกลิ่นนั้น หมายความว่าจะมีการปล่อยสารประกอบต่าง ๆ ออกมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน กลิ่นและสารเหล่านี้ก็จะเป็นตัวล่อให้ยุงเข้ามากัด สำหรับสารทาป้องกันยุงนั้นไม่ใช่สารฆ่าแมลง แต่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสารทาป้องกันยุงที่ดีต้องเคลือบผิวหนังของผู้ใช้ ทำให้ยุงไม่ได้กลิ่นของเหยื่อ หรือมีกลิ่นไปหยุดยั้งการกัดของยุง โดยไปรบกวนกลไกการรับรู้กลิ่นของเหยื่อ ซึ่งสารทาป้องกันยุงนั้นสามารถไล่ยุงได้ในระยะแค่ 2-3 นิ้วจากผิวหนังที่ทา ฉะนั้นผู้ใช้จะยังคงเห็นยุงมาบินอยู่รอบ ๆ ตัว ตราบใดที่ยุงไม่กัดไม่จำเป็นต้องทาสารซ้ำ(4)

สารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์สารทาป้องกันยุง(3-6)

1. DEET (ชื่อทางเคมี N,N-diethyl-meta-toluamide or N,N-diethyl-3-methylbenzamide) เป็นสารสำคัญที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลง ซึ่งผลิตออกมาในหลายรูปแบบ เช่น โลชั่นสเปรย์ โดยปริมาณ DEET ที่ใช้ทาผิวหนังและใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลงคือ 4-100% โดยปกติร่างกายของคนเราจะส่งกลิ่นออกมามาก ซึ่งจะปล่อยสารประกอบต่าง ๆ ออกมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน กลิ่นเหล่านี้ก็จะเป็นตัวล่อให้ยุงเข้ามากัด นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามปฏิกิริยาทางไฟฟ้าของเซลล์ประสาทรับกลิ่นของยุงเมื่อปล่อยให้มันได้กลิ่นของ DEET และพบว่า DEET ช่วยปกปิดกลิ่นเหงื่อของร่างกายจากยุงได้ แต่ไม่สามารถปกปิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจได้(5)

2. Icaridin หรือ Picaridin (ชื่อทางเคมี 2-(2-hydroxyethyl)-1-piperidine carboxylic acid 1-methylpropyl ester) เป็นสารสำคัญที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลง โดยปริมาณที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลงคือ 5-20%

3. Ethyl butylacetylamino propionate มีฤทธิ์ไล่ยุงและแมลงอื่น ๆ เช่น มด แมลงวัน เห็บ หมัด โดยปริมาณที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลง ถ้ามีปริมาณมากกว่า 12.5% ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี แต่ถ้ามีปริมาณน้อยกว่า 12.5% ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี

4. IR3535 (ชื่อทางเคมี 3-[N-Butyl-N-acetyl]-aminopropionic acid, ethyl ester) เป็นสารไล่แมลงที่ผลิตโดยวิธีชีวสังเคราะห์ โดยไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายรุนแรงในมนุษย์ โดยปริมาณที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลงคือ 7.5-20.07%

5. Oil of Citronella หรือน้ำมันตะไคร้หอม ซึ่งใช้เป็นสารไล่ยุงและแมลงมากว่า 50 ปี ซึ่งนอกจากจะใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลงชนิดของเหลวแล้ว ยังสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น เช่น ธูปหอม เทียนหอมกันยุง เป็นต้น โดยปริมาณที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลงคือ 6-20%

6. Oil of Lemon Eucalyptus ได้จากใบและกิ่งของต้นยูคาลิปตัส ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไล่แมลงในรูปแบบโลชั่น และสเปรย์ ซึ่งยังไม่พบผลข้างเคียงในมนุษย์ โดยปริมาณที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลงคือ 30-40%

7. p-Menthane-3,8-diol เป็นสารสังเคราะห์ทางเคมีของ Oil of Lemon Eucalyptus ซึ่งใช้ทาบนผิวหนังหรือเสื้อผ้า เพื่อไล่ยุงและแมลงบางชนิด โดยปริมาณที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ไล่แมลงคือ 8-10%

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากสารทาป้องกันยุง(5,6)

อาการพิษที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ไล่แมลงส่วนใหญ่มักเป็นเพียงการระคายเคืองจากการสัมผัสสารบริเวณนั้น โดยถ้าได้รับทางปากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในปากและลำคอ และอาจทำให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารบวมแดง หรือไหม้ได้ถ้าได้รับในปริมาณมากและความเข้มข้นสูง นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องได้ ตัวอย่างของผลข้างเคียงจาก DEET ได้แก่ ลมพิษ ผื่นแดง ระคายเคือง ปากชา มึนงง ไม่มีสมาธิ ปวดหัว คลื่นไส้

ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพของสารทาป้องกันยุง(3-6)

  • การมีเหงื่อจะชะล้างสารทาป้องกันยุง ทำให้หมดฤทธิ์เร็ว นอกจากนี้สารในเหงื่อยังสามารถดึงดูดยุงได้

  • อุณหภูมิ และความชื้น โดยอุณหภูมิสูงจะทำให้สารระเหยเร็ว ยุงมีอัตราการกัดสูง ความชื้นสูงทำให้การระเหยจะช้ากว่าความชื้นต่ำ

  • กระแสลม ลมแรงจะทำให้สารระเหยเร็ว หมดฤทธิ์เร็ว

  • ชนิดของยุง ประสิทธิภาพของสารทาป้องกันยุงต่อยุงต่างชนิดกันจะไม่เท่ากัน

  • ผู้ใช้ ผิวหนังแต่ละคนจะดูดซึมสารทาป้องกันยุงได้ไม่เหมือนกัน คนที่ผิวหยาบจะทำให้สารทาป้องกันยุงหมดฤทธิ์เร็วกว่าคนที่ผิวละเอียด คนที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผิวมากจะถูกยุงกัดได้เร็วกว่าคนที่ทาสารป้องกันยุงชนิดเดียวกัน

วิธีใช้สารทาป้องกันยุงที่ถูกต้อง(3-6)

1. ทาบนผิวหนังบาง ๆ ให้ทั่ว โดยยุงจะกัดบริเวณที่ไม่ได้ทาสาร

2. ไม่ควรทาสารป้องกันยุงบริเวณผิวหนังในร่มผ้า แต่ควรฉีดสเปรย์บนเสื้อผ้า

3. ไม่ควรทาบนบริเวณที่เป็นแผล รวมทั้งผิวที่แพ้แดด และรอยผื่นคัน

4. หลีกเลี่ยงไม่ทาบริเวณรอบดวงตาและรอบปาก ถ้าใช้แบบสเปรย์ให้ฉีดสเปรย์ลงบนมือก่อนแล้วจึงทาที่ใบหน้า อย่าฉีดสเปรย์เข้าที่ใบหน้าโดยตรง

5. ห้ามเด็กใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง ควรทาบนมือก่อนแล้วจึงทาให้เด็ก อย่าฉีดหรือเทลงบนมือของเด็ก

6. ใช้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับปกป้องผิว ไม่จำเป็นต้องทาให้หนา เพราะไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการไล่ยุง

7. ถ้าใช้แล้วเกิดผื่นหรือเกิดผลข้างเคียงควรล้างออกด้วยน้ำสบู่ แล้วไปพบแพทย์พร้อมกับนำผลิตภัณฑ์ไปด้วย

8. งดใช้ในสตรีมีครรภ์

9. เมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างสารทาป้องกันยุงออกด้วยสบู่และน้ำ

 

คำแนะนำในการใช้สารทาป้องกันยุงเพื่อความปลอดภัย(5,6)

  • สารทาป้องกันยุงที่ได้รับการรับรองจาก อย. มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้

  • ควรอ่านฉลากก่อนใช้ และปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก เนื่องจากการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการไล่แมลง และลดอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ไม่ถูกต้องได้

  • เด็กเล็กต่ำกว่า 4 ปี ไม่ควรใช้สารทาป้องกันยุงความเข้มข้นสูงกว่า 20% และไม่ควรทาสารป้องกันยุงให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

  • ผู้ที่ใช้สารทาป้องกันยุงแล้วรู้สึกร้อนที่ผิวหนัง ให้ล้างออกด้วยสบู่และน้ำ และควรเปลี่ยนไปใช้ยาจุดกันยุงแทน

  • ก่อนใช้ควรทาหรือพ่นที่ข้อพับแขนดูก่อน ถ้าไม่เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองจึงใช้บริเวณอื่นได้

  • ภายหลังการใช้ หากจะหยิบจับอาหารควรล้างมือเสียก่อน

  • ควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่าใช้ติดต่อกันเป็นประจำ

จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วขั้นต้นนั้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารทาป้องกันยุงกัดที่มีคุณภาพได้มาตรฐานการรับรอง และการใช้ที่ถูกต้องจะเป็นการใช้สารทาป้องกันยุงที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

 

เอกสารอ้างอิง

1. ท่านทราบหรือไม่ว่าโรคร้ายบางชนิดที่เกิดกับคนนั้นมียุงเป็นพาหะนำโรค. http://www.dmj.ac.th/tipawan/health/mosquitoes.htm

2. http://hps.anamai.moph.go.th/html/images/11441_003.gif

3. อุษาวดี ถาวระ. ความรู้เกี่ยวกับสารทาป้องกันยุง (repellent) พาหะโรคไข้เลือดออก. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_3_001c.asp?info_id=920

4. โลชั่นกันยุง…ช่วยปกปิดกลิ่นเหงื่อของคนเราจากยุงได้. http://www.vcharkarn.com/vnews/140541

5. ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง (Insect Repellents). http://www.fda.moph.go.th/psiond/download/km/insect%20repellent.pdf

6. โชติมา วิไลวัลย์. ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง (Insect Repellents). http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=96