ยาปฏิชีวนะ...ภัยร้ายในเด็ก

ยาปฏิชีวนะ...ภัยร้ายในเด็ก

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ใช้กันบ่อย เช่น อะม็อกซีซิลลิน เพนิซิลลิน เตตร้าซัยคลิน นอร์ฟล็อกซาซิน คล็อกซาซิลลิน และไดคล็อกซาซิลลิน เป็นต้น

การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อจะให้ผลแตกต่างจากยาแก้ปวด ยาลดความดัน และยาทั่วไป ยาประเภทอื่นเมื่อมีการใช้ไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้เท่านั้น แต่การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อส่งผลต่อสุขภาพทั้งของตนเองและของผู้อื่น ดังนี้ 1. แพ้ยา หากแพ้ไม่มากอาจมีแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้น ผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต 2. เกิดเชื้อดื้อยา การรับประทานยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายคือไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเชื้อดื้อยานี้อาจแพร่สู่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสู่กลุ่มผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ภูมิต้านทานโรคบกพร่อง 3. เกิดโรคแทรกซ้อน ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรค และแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของมนุษย์ เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่น ๆ ในร่างกายมนุษย์จึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้นทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระเป็นอันตรายถึงชีวิต

ปัจจุบันคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2552 มูลค่าการผลิตและนำเข้ายาปฏิชีวนะสูงถึง 10,940 ล้านบาท สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ เภสัชกรที่สั่งใช้ยาไม่เหมาะสม และจากภาคประชาชนเองซึ่งขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การซื้อยาใช้เอง การร้องขอยาจากแพทย์ การใช้ยาผิดประเภท ส่งผลให้เกิดวิกฤติเชื้อดื้อยา ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ปัญหาเชื้อดื้อยาได้ส่งผลต่อทั้งสุขภาพของคนไทยและเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2553 ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ ได้แก่ มีคนไทยติดเชื้อในโรงพยาบาลประมาณ 270,000 คน ติดเชื้อดื้อยาประมาณ 90,000 คน ผู้ติดเชื้อดื้อยาอยู่โรงพยาบาลนานขึ้นประมาณ 3 ล้านวัน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 38,000 คน ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ได้แก่ มูลค่ายาปฏิชีวนะรักษาเชื้อดื้อยาประมาณ 6,000 ล้านบาท ความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะคือ 1. ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยาแก้อักเสบเป็นยาต้านการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการอักเสบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจึงไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ การเรียกยาปฏิชีวนะผิดเป็นยาแก้อักเสบจะทำให้ใช้ยาผิดชนิด รักษาผิดโรค และเป็นอันตรายถึงชีวิต 2. ยาปฏิชีวนะเป็นยาอันตรายเพราะอาจทำให้แพ้ยาและเกิดเชื้อดื้อยา ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ยาปฏิชีวนะเป็นยาอันตราย โดยมีคำเตือนในกรอบอยู่ข้างกล่อง และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น 3. โรคหายได้ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ คือ 3.1 หวัด เจ็บคอ กว่าร้อยละ 80 เกิดจากไวรัส มีอาการ เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม เสียงแหบ เจ็บคอ คันคอ มีไข้ เป็นนาน 7-10 วัน โดยวันที่ 3-4 จะมีอาการมากที่สุด แล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง รักษาโดยดื่มน้ำอุ่น กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ พักผ่อนให้มาก แต่ถ้ามีอาการ 3 ใน 4 ข้อนี้คือ เจ็บคอมาก และไม่ไอ มีไข้ มีหนองที่ต่อมทอนซิล หรือต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโตและกดเจ็บ ต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกร 3.2 ท้องเสีย กว่าร้อยละ 99 เกิดจากไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย รักษาโดยการดื่มน้ำเกลือแร่ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ามีไข้และถ่ายเป็นมูกเลือดต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกร 3.3 แผลเลือดออก เช่น มีดบาด แผลถลอก แผลเล็กน้อยจากอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ป่วยมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงดี รักษาโดยล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าเป็นแผลที่เท้า ตะปูตำ สัตว์กัด แผลถูกสิ่งสกปรก เช่น มูลสัตว์ น้ำครำ หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกร

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อและไม่สมเหตุสมผลไม่ได้มีเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เริ่มปัญหาตั้งแต่ในเด็ก ซึ่งจากข้อมูลการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะในปีงบประมาณ 2555 ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในกลุ่มโรค URI (Upper respiratory infection หมายถึง โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนต้น เริ่มตั้งแต่ช่องจมูกจนถึงเหนือกล่องเสียง เช่น โรคหวัด หรือ common cold) พบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะเฉลี่ยร้อยละ 43.7 และโรคท้องร่วงเฉียบพลันมีการใช้ยาปฏิชีวนะเฉลี่ยร้อยละ 35 ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเด็กในกลุ่มนี้ เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำและติดเชื้อดื้อยาได้ง่าย เนื่องจากเป็นวัยที่มีโอกาสคลุกคลีกับเด็กในวัยใกล้เคียงกันซึ่งยังขาดภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การให้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดการแพ้ยาและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อดื้อยาในอนาคต

ด้วยเหตุนี้เอง ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) จึงได้ร่วมกับแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดโครงการ “การรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในเด็ก: Antibiotics Smart Use in Children (ASU Kids)” และเผยผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2556 จากการติดตามประเมินผลการรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไข้หวัด-เจ็บคอ พบว่าร้อยละ 91.5 ของผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษามีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โดยไม่ต้องจ่ายยาปฏิชีวนะให้ ซึ่งอัตราการหายไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษา จากการศึกษายังพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่พึงพอใจ และร้อยละ 98.5 ต้องการจะกลับมารับบริการอีกในครั้งต่อไป

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล และการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลถือเป็นนโยบายหนึ่งของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการวางแผนป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินความจำเป็น ไม่ถูกต้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกระดับ ทั้งในโรงพยาบาลตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้บริหารทุกระดับ บุคลากรทุกภาคส่วนไม่เฉพาะแพทย์เท่านั้น เภสัชกรที่ต้องให้คำแนะนำ รวมถึงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในการดูแลโรคติดเชื้อต่าง ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไข้หวัด-เจ็บคอ ซึ่งมักพบบ่อยในเด็กอายุ 2-5 ปี เป็นโรคที่สามารถหายเองได้โดยภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย พ่อ แม่ และผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กรับประทานยามากเกินไป โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาอาการไข้หวัด-เจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ และยังเป็นอันตรายอาจทำให้เด็กแพ้ยาเพิ่มความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่สำคัญคือ อาจเหนี่ยวนำให้เด็กเกิดเชื้อดื้อยาซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โดยในปี พ.ศ. 2556 ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาวิจัยโดยติดตามประเมินผลการรักษาผู้ป่วยเด็กที่ผู้ปกครองพามารับการรักษาด้วยอาการไข้หวัด-เจ็บคอ ซึ่งทางสถาบันฯ ได้ทำการรักษาตามอาการโดยไม่จ่ายยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ป่วย ผลปรากฏว่าผู้ป่วยเด็กร้อยละ 91.5 มีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติเป็นที่พอใจของผู้ปกครอง และบุคลากรผู้ให้การรักษา ซึ่งที่ผ่านมากรมการแพทย์ได้มุ่งเน้นให้สถานพยาบาลในสังกัดควบคุมปริมาณการจ่ายยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน สอดรับกับนโยบายลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ที่ประกาศให้ตระหนักถึงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องสมเหตุสมผลเพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา

.คลินิก พญ.ศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก อย. พบว่าปี พ.ศ. 2552 มูลค่าการผลิตและนำเข้าในกลุ่มยา General anti-infectives for systemic use มีมูลค่าถึง 22,900 ล้านบาท โดยเป็นยาปฏิชีวนะถึง 19,410 ล้านบาท สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มูลค่าการใช้สูงมากเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งเกิดจากทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เภสัชกร สั่งยาไม่เหมาะสม และจากภาคประชาชน ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาปฏิชีวนะในบางประเด็นที่ผิด ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการใช้ที่ไม่ถูกต้อง เช่น ซื้อยาใช้เอง การร้องขอยาจากแพทย์ การใช้ยาผิดข้อบ่งชี้ เป็นต้น ในท้ายที่สุดสิ่งที่ตามมาคือ เกิดวิกฤติปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี พ.ศ. 2550 ทาง อย. ได้เริ่มโครงการ ASU โดยมีเป้าหมายลดการใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 โรคคือ ไข้หวัด-เจ็บคอ ท้องเสีย และแผลเลือดออก ผลการประเมินโครงการตลอดมาจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงการยอมรับแนวคิดและปรัชญาของโครงการ ASU ของผู้สั่งใช้ยาในสถานพยาบาลภาครัฐ ทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องในระดับประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาที่ผ่านมาจะเป็นในบริบทของสถานบริการที่ดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นสถานบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิ ประสิทธิผลและการดำเนินโครงการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กยังมีความจำกัด ดังนั้น ทางสถาบันฯ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยเด็กทั่วประเทศได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล เพราะหากบุคลากรทางการแพทย์ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลจะส่งผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กไทยในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ทางสถาบันฯ ได้ควบคุมการจ่ายยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะในโรคหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเช่น ไข้หวัด-เจ็บคอ ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการและแนะนำวิธีการที่ถูกต้องให้แก่พ่อ แม่ และผู้ปกครอง พร้อมทั้งติดตามประเมินผลการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อให้พ่อ แม่ และผู้ปกครองมั่นใจในแนวทางการรักษา สำหรับอาการไข้หวัด-เจ็บคอ พ่อ แม่ และผู้ปกครองสามารถตรวจสอบดูเองได้ง่าย ๆ โดยให้เด็กอ้าปาก ใช้ไฟฉายแสงขาวส่องดูในคอ หากไม่มีตุ่มหนองที่ต่อมทอนซิล และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้กดใต้ขากรรไกรแล้วเด็กไม่เจ็บ แสดงว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ แค่ให้เด็กดื่มน้ำอุ่นมากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายให้เหงื่อออกบ้างเล็กน้อย และดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หากตัวร้อนเป็นไข้ให้เช็ดตัวหรือรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้เพียงเท่านี้ก็พอ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะในสังคมไทยนั้นน่าเป็นห่วง และต้องเร่งป้องกันแก้ไข เนื่องจากมีความเชื่อและความเข้าใจผิดหลายประการ ประการแรกคือ เรียกชื่อผิด การเรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบ ทำให้เข้าใจผิดว่ายาปฏิชีวนะใช้ได้กับอาการอักเสบทุกชนิดและทำให้ใช้ยาผิดประเภท ซึ่งความจริงแล้วยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาอาการอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสหรือสาเหตุอื่น ๆ ได้ ประการที่สองคือ ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดเจ็บคอส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งสามารถหายเองได้ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย การไปหาซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเองจึงไม่ช่วยรักษาโรค แต่ยังเพิ่มอันตรายจากการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ประการที่สามคือ ประชาชนมีความเชื่อตาม ๆ กันว่ารับประทานยาปฏิชีวนะกันไว้ก่อน ดักไว้ก่อนจะช่วยป้องกันโรคได้ ซึ่งความเชื่อและความเข้าใจผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้คนไทยใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็นจนเกิดเป็นวิกฤติเชื้อดื้อยาในปัจจุบัน และกำลังลุกลามไปถึงผู้ป่วยเด็กเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อ แม่ และผู้ปกครอง

กพย. โดยการสนับสนุนของ สสส. จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลมาโดยตลอด เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตราย และใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยได้มีการสนับสนุนโครงการ ASU ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลใน 15 จังหวัด จำนวน 22 โครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งมีหลายจังหวัดให้ความสนใจ

นอกจากนี้แล้วยังมีโครงการที่ทำในภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายคือ จะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนตื่นตัวและตระหนักเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลให้มากขึ้น ตระหนักว่าไม่ใช้ยาเมื่อไม่จำเป็น ยาปฏิชีวนะใช้เมื่อไม่จำเป็นจะอันตราย เชื่อว่าเมื่อภาคประชาชนได้รับความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องจะสามารถขยายความคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องหรือคนใกล้ชิดได้ด้วย โดยได้ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ทำในกลุ่มพ่อ แม่ และผู้ปกครอง ลงไปสู่ชุมชน ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ และในปีนี้มีโครงการที่จะสนับสนุนร้านยาซึ่งเป็นด่านหน้าที่จะเข้ามาช่วยเสริมในการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลด้วย โดยร่วมมือกับร้านยาของคณะเภสัชศาสตร์จากทุกมหาวิทยาลัย

ยาปฏิชีวนะมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ถ้าใช้ไม่เป็น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพ ถ้าหากไม่มียาปฏิชีวนะใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้ และเมื่อใช้แล้วไม่ได้ผลยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรที่จะมีการป้องกันก่อนที่สุขภาพจะเสื่อมโทรมจนต้องใช้ยาปฏิชีวนะ” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวทิ้งท้าย

ภญ.ดร.ดวงทิพย์ หงส์สมุทร ผู้เชี่ยวชาญกองทุนยา เวชภัณฑ์และวัคซีน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่สรรหาและจัดซื้อบริการสุขภาพให้แก่ประชาชน 47 ล้านคนทั่วประเทศ เล็งเห็นถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อในสังคมไทย ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้สุขภาพย่ำแย่ เกิดโรคอื่นตามมาเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียค่าดูแลรักษาสุขภาพ และการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจาก อย. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีการสั่งซื้อยาปฏิชีวนะมากเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่าสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

สปสช. จึงได้นำเอาแนวปฏิบัติโครงการ ASU มาเป็นแนวทางในการกำหนดเกณฑ์ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสถานพยาบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ขานรับนโยบายรัฐในการลดค่าใช้จ่ายประเทศและเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิตซึ่งกำลังเป็นวิกฤติทั่วโลกอยู่ในปัจจุบัน โดยในช่วงแรกได้มีการส่งเสริมให้หน่วยบริการต่าง ๆ มีกระบวนการในการทำงานเพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม มีระบบคุณภาพ มีค่าตอบแทนสำหรับหน่วยบริการที่ทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีการเดินสายชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม โดยในปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมาเริ่มมีการวัดผลการจ่ายยาปฏิชีวนะว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งใช้ใน 2 โรคคือ ทางเดินหายใจติดเชื้อหรือไอ และโรคท้องร่วงเฉียบพลัน ซึ่งได้ผลที่น่าพอใจ มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมลดลง แต่ยังพบว่ามีอยู่จึงต้องเดินหน้าทำต่อไป ทั้งเชิงนโยบายหรือเรื่องการทำงานวิจัย ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้งานด้านนี้เคลื่อนที่ต่อไป โดยทาง สปสช. ยังคงนโยบายการสนับสนุนหน่วยบริการที่สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมได้ในเรื่องของการใช้ยาปฏิชีวนะต่อไป