ไขข้อข้องใจปัญหาสุขภาพเพศชาย สัญญาณโรคร้าย...อันตรายกว่าที่คิด

ไขข้อข้องใจปัญหาสุขภาพเพศชาย สัญญาณโรคร้าย...อันตรายกว่าที่คิด

อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED: Erectile Dysfunction) คือ การที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัว และ/หรือแข็งตัวได้แต่ไม่เพียงพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างพึงพอใจ เมื่อพูดถึงอาการนี้ใครหลายคนมักนึกถึงเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งแท้ที่จริงแล้วอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย เพราะนอกจากจะส่งผลเสียในเรื่องเพศสัมพันธ์ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศยังเป็นสัญญาณของโรคร้าย อาทิ โรคหัวใจ โรคความดัน และโรคเบาหวานอีกด้วย จึงอยากให้ผู้ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตระหนักถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคเหล่านี้ และควรรีบเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะสายเกินแก้

จากข้อมูลทั่วโลกในปี พ.ศ. 2538 มีผู้ชายมากกว่า 152 ล้านคนที่ประสบอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และตัวเลขประมาณการในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะมีผู้ชายที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศประมาณ 322 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 170 ล้านคน

ส่วนข้อมูลในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2543 มีการสำรวจอุบัติการณ์ของอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศครั้งแรกในประเทศไทยในชายอายุระหว่าง 40-70 ปี จำนวน 1,250 คน พบว่ามีอุบัติการณ์ 37.5% ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 มีการสำรวจเป็นครั้งที่ 2 ในชายอายุ 40-70 ปี จำนวน 2,269 คน พบอุบัติการณ์การเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 42.18%

วิธีการวัดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วยการวัดระดับความแข็งตัวของอวัยวะเพศ หรือ Erection Hardness Score 1-4 (EHS เกรด 1-4)

อาการอีดี

ระดับรุนแรง

อาการอีดี

ระดับปานกลาง

อาการอีดี

ระดับเบื้องต้น

ปลอดจากอาการอีดี

1

อวัยวะเพศตื่นตัว

ขยายขนาด

พองขึ้นแต่ไม่แข็ง

2

อวัยวะเพศแข็งตัว แต่ไม่เพียงพอ

ที่จะสอดใส่

3

อวัยวะเพศ

แข็งตัวไม่เต็มที่ แต่เพียงพอที่จะ

สอดใส่ได้

 

4

อวัยวะเพศ

แข็งตัวเต็มที่

 

ประโยชน์ของการใช้ระดับการแข็งตัวของอวัยวะเพศ (Erection Hardness Score 1-4) คือ ด้วยการใช้ระดับการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถที่จะติดตามความก้าวหน้าในการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และให้การรักษาที่เหมาะกับความจำเป็นของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากการใช้ระดับการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเป็นการให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการรักษาของตน การวางแผนและประเมินผลการรักษาจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีบทบาทและปฏิบัติตามแบบแผนการบำบัดรักษาได้ดีกว่า ส่งผลให้ได้รับความพึงพอใจในการรักษามากขึ้น

เป้าหมายของการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอยู่ที่การทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวมากพอที่จะทำให้ได้รับความพึงพอใจทางเพศสูงสุด สำหรับผู้ชายที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและคู่รักของตน ซึ่งการแข็งตัวควรจะแข็งตัวอย่างสมบูรณ์เต็มที่อยู่ในความแข็งระดับ 4 ของ EHS ซึ่งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมามีความพยายามในการคิดค้นพัฒนาการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง

ผู้ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้นได้รับผลกระทบหลายด้าน ซึ่งการหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และเป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะที่ผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง และไขมันในเส้นเลือดสูง เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ จากผลสำรวจพบว่า 49% ของผู้ป่วยมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศก่อนหน้านี้ 3.2 ปี ดังนั้น อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศจึงเป็นอาการที่ไม่ควรละเลย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 1.46 เท่า

นอกจากนี้อาจเป็นผลมาจากการรับประทานยาบางชนิด หรือการผ่าตัดที่กระทบต่อเส้นประสาทได้ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจจะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า การสูญเสียความมั่นใจในตนเอง การมองภาพลักษณ์ตนเองตกต่ำ หรือความกระวนกระวาย หรือความกดดันที่มีเพิ่มมากขึ้นต่อคู่รักของตนเอง

.นพ.จอห์น มัลฮอลล์ ผู้อำนวยการสาขาวิชาสมรรถภาพทางเพศและเวชศาสตร์เจริญพันธ์ุเพศชาย แผนกระบบปัสสาวะ สถาบัน Memorial Sloan Kettering Cancer Center และเลขาธิการสมาคมเวชศาสตร์ทางเพศแห่งอเมริกาเหนือ กล่าวว่า อยากให้เราตระหนักถึงสมรรถภาพทางเพศ เพราะมันส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ บุคลิกภาพ ชีวิตคู่ มันแทรกซึมกับทุกด้านในชีวิต Sex ในทีนี้ไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์แบบดิบ ๆ แต่คือการมีความสัมพันธ์ แสดงความรักให้แก่กันโดยมีกายเป็นสื่อ และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ชายทั่วโลกพบว่า ปัจจัยที่ทำให้มีการเสพสมแบบสมบูรณ์ขึ้นอยู่กับความแข็งตัวของอวัยวะเพศเป็นหลัก แต่ความสุขด้านอื่น ๆ จะตามมาทั้งกับตนเองและคู่รัก

ทั้งนี้อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศยังเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังถูกคุกคามจากโรคร้าย ซึ่งอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือ สภาวะจิตใจ ปัจจัยที่ 2 คือ โรคทางร่างกายเป็นต้นเหตุของอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมากถึง 80% เช่น โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด 40% เนื่องจากเส้นเลือดมีอยู่ทั่วร่างกาย และในบริเวณอวัยวะเพศเป็นเส้นเลือดที่มีขนาดเล็กจึงแสดงอาการในระยะแรกเป็นอาการนำ หากผู้ป่วยยังไม่ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อนาคตมีโอกาสเกิดภาวะเส้นเลือดใหญ่ตีบ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ ส่วนแนวโน้มที่ผู้ป่วยอาจเป็นโรคเบาหวานมี 30% ผลข้างเคียงจากการใช้ยา 15% โรคต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนบกพร่อง 3% และปัจจัยอื่น ๆ 1%

.นพ.จอห์น กล่าวต่ออีกว่า “ผลจากการติดตามผู้ป่วยในอเมริกาที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในระยะเวลา 5 ปี พบว่าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจตามมา โดยมีอัตราของโอกาสเป็นโรคหัวใจคิดเป็น 1.46 เท่าของคนทั่วไป ควรตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง”

“การรักษาโดยทั่วไปของผู้ป่วยที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ผู้ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในระยะแรก แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และไม่ปล่อยให้สภาพจิตใจหงุดหงิด ขั้นที่สองคือ รับประทานยา ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนักขึ้นไปอีกต้องใช้หลอดปั๊มสุญญากาศที่อวัยวะเพศเพื่อให้เลือดเข้ามาอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศ หากอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์จะเลือกวิธีรักษาด้วยการใช้ยาฉีดที่โคนอวัยวะเพศ และวิธีสุดท้ายที่แพทย์จะเลือกให้การรักษาแก่ผู้ป่วยในกรณีที่ทำทุกวิธีการรักษาแล้วไม่สำเร็จคือ การผ่าตัดใส่แท่งเทียมที่อวัยวะเพศ”

.นพ.สมบุญ เหลืองวัฒนากิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพศชายชั้นนำของไทย กล่าวว่า 25% ของแพทย์ในประเทศไทยมักใส่ใจเรื่องอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยชาย ไม่ว่าจะเข้ารับการตรวจหรือรับการรักษาด้านใดก็ตาม โดยในปัจจุบันอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา ซึ่งได้แก่ ยาซิลเดนาฟิลหรือไวอากร้า ถือว่าเป็นวิธีการให้การรักษาที่ได้ผลตอบรับค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจให้แก่ผู้ป่วย เนื่องจากการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายคือ การขยายตัวของหลอดเลือดในอวัยวะเพศชายเป็นผลมาจากการกระตุ้นที่ผนังหลอดเลือดด้วยสารเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นชื่อ ไซคลิกจีเอ็มพี (C-GMP) สารนี้จะถูกสร้างขึ้นเมื่อผู้ชายได้รับการกระตุ้นทางเพศ สารนี้เมื่อสร้างขึ้นและไปออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงแล้วจะต้องถูกทำลายลง มิฉะนั้นการขยายตัวของหลอดเลือดจะคงอยู่อย่างนั้นตลอดไป ทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศที่ไม่ยอมคลายตัว ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดอย่างมากได้ สารที่ทำหน้าที่ทำลายไซคลิกจีเอ็มพีจะถูกปลดปล่อยตามหลังไซคลิกจีเอ็มพีออกมาที่ผนังของหลอดเลือดที่อวัยวะเพศชาย สารนี้มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์มีชื่อว่าฟอสโฟไดเอสเตอเรส 5 ยาซิลเดนาฟิลจะออกฤทธิ์โดยการขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเตอเรส 5 ดังนั้น สารไซคลิกจีเอ็มพีจึงถูกทำลายน้อยลง ทำให้หลอดเลือดขยายตัวอยู่ได้ต่อไปในผู้ป่วยที่มีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ในผู้ชายปกติ ปริมาณของสารไซคลิกจีเอ็มพีและอัตราการถูกทำลายด้วยเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเตอเรส 5 เป็นไปอย่างสมดุล ทำให้การแข็งตัวเกิดขึ้นนานเพียงพอสำหรับการร่วมเพศได้

.นพ.จอห์น กล่าวต่อไปอีกว่า “แม้การใช้ยาซิลเดนาฟิลจะมีการถูกใช้และเป็นที่ยอมรับมากว่า 15 ปีแล้ว แต่ยังคงมีผู้ที่ใช้ยาซิลเดนาฟิลผิดวิธีอยู่ หลักการที่ถูกต้องคือ ควรให้ยาแก่ผู้ป่วยในโด๊สที่สูงที่สุดก่อน คือ 100 mg เมื่อมีผลตอบสนองที่ดีค่อยลดจำนวนโด๊สให้ต่ำลงเป็น 50 mg เพราะถ้าหากเริ่มให้ยาในโด๊สที่ต่ำในตอนแรกแล้วผลออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจจะทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ และไม่อยากรับการรักษาด้วยการรับประทานยาต่อ หรือเมื่อขาดความมั่นใจไปแล้ว ต่อให้ยาในโด๊สที่สูงขึ้นอาจออกฤทธิ์ได้ดี แต่สภาพจิตใจไม่ดี ผลการรักษาที่ออกมาก็จะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และหากผู้ป่วยเคยใช้ยาซิลเดนาฟิลตัวไหนแล้วได้ผลก็ไม่ควรเปลี่ยนตัวยาโดยไม่จำเป็น”

“งานศึกษาทำการทดสอบจากไต้หวัน มีผู้ป่วยที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศจำนวน 44 ราย รับประทานยาซิลเดนาฟิลครั้งแรกแล้วไม่ได้ผลจึงหยุดยาทันที แต่เมื่อแพทย์ได้ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจและบอกถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วย หลังจากนั้นก็ให้ผู้ป่วยรับประทานยาซิลเดนาฟิลใหม่อีกครั้ง ผลที่ได้รับคือ 88% ของผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนสาเหตุที่ใช้ยาซิลเดนาฟิลแล้วไม่ได้ผล ในงานวิจัยนี้ได้ข้อสรุปว่า ผู้ป่วยไม่ทราบวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องว่า เมื่อรับประทานยาแล้วจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วล้มเหลวเพียงครั้งสองครั้งก็หยุดยา ไม่ยอมรับการรักษาต่อ และผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยาในโด๊สที่ต่ำ คือเริ่มจาก 50 mg เมื่อไม่ได้ผลก็หยุดการรับประทาน ไม่ได้ลองรับประทานยาในโด๊สที่สูงขึ้น”

.นพ.สมบุญ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โดยทั่วไปของงานวิจัยยาทุกประเภทและทุกตัว เมื่อทดลองใช้ยาจริงเทียบกับยาหลอก ยาหลอกจะได้ผล 25-30% นี่คือสาเหตุว่าทำไมถึงมีการขายยาปลอมตามท้องตลาดจำนวนมาก และข้อควรระวังของอาหารเสริมปลอมทั้งหลาย จากผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่มีเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายเป็นส่วนผสม ซึ่งมีข้อห้ามใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านมหรือผู้ที่เป็นอยู่แล้ว และพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาหลอกหรือยาปลอมที่มีขายตามท้องตลาดเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา ทางที่ดีผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาและได้รับการจ่ายยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะตัวยาจริงและยาหลอกตามท้องตลาดแทบจะหาข้อแตกต่างทางรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เลย เมื่อเทียบต้นทุนการซื้อยาที่ถูกกับความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับ ถือว่าได้ไม่คุ้มเสียเลยจริง ๆ”

 

 

bahis sitesi kiralama